Search

คุยกับแบงก์ชาติ อนาคต “บาทดิจิทัล” - efinanceThai

faca.prelol.com
คุยกับแบงก์ชาติ อนาคต “บาทดิจิทัล”

Special Interview

คุยกับแบงก์ชาติ อนาคต “บาทดิจิทัล”

 

Brief:

          *แบงก์ชาติอยู่ระหว่างการพัฒนา “ระบบต้นแบบการชำระเงินของภาคเอกชน” ด้วยการใช้  “เงินบาท” “ในรูปแบบดิจิทัล” “ที่ออกโดยธนาคารกลาง” หรือ  CBDC ในการทำธุรกรรม ซึ่งระบบนี้ใช้ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชน เป็นพื้นฐาน

          *การใช้เงินบาทในรูปแบบดิจิทัลแทนเงินสดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนภาคธุรกิจ และที่สำคัญเมื่อเงินเป็นดิจิทัลอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ในทางเทคนิคยังสามารถเขียนเงื่อนไข หรือคำสั่งต่างๆ (Smart Contract) ลงไปบนเงินได้

          *บริษัทปูนต์ซิเมนต์ไทย (SCG) เป็นเอกชนรายแรก ที่เข้าร่วมทดสอบ โดยจะใช้ CBDC แทนเงินสด ในการชำระเงินระหว่างคู่ค้าในซัพพลายเชน  เริ่มทดสอบและพัฒนาระบบในเดือน ก.ค.2563 คาดแล้วเสร็จภายปลายปีนี้  

 

          *ในอนาคตแบงก์ชาติมีเป้าหมายจะต่อยอดการทดสอบและพัฒนา จากระดับภาคเอกชนขยายขอบเขตลงไปถึงระดับประชาชน (Retail CBDC) อย่างไรก็ตาม อาจจะยังต้องใช้เวลาพอสมควรในการศึกษารูปแบบ ผลกระทบ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งองคาพยพ


“สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ คุณวชิรา อารมย์ดี เกี่ยวกับความคืบหน้า ในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)  ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับธนาคารทั่วโลก และที่โดดเด่นมากคือประเทศจีนในชื่อ DC/EP หรือ หยวนดิจิทัล 


 

***พัฒนาการของเงินและระบบการชำระเงิน

 

คุณวชิรา เริ่มต้นเล่าย้อนถึง พัฒนาการของเงินและระบบการชำระเงินว่า สมัยก่อน “เงิน” อาจเป็นพดด้วง ยุคต่อมาเป็นธนบัตร ซึ่งเราสามารถยื่นชำระค่าสินค้าให้กันโดยตรง (ไม่ผ่านตัวกลาง) ต่อมาเมื่อเราต้องเคลื่อนย้ายเงินเป็นล้านๆ อาจไม่สะดวกในการหอบธนบัตร เราจึงต้องนำเงินก้อนนั้นไปฝากที่สาขาธนาคาร (ธนาคารเป็นตัวกลาง) เพื่อให้ธนาคารช่วยโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ พอยุคต่อมา เราก็ยังโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ธนาคารเป็นตัวกลาง) เพียงแต่ไม่ได้หอบเงินไปที่สาขา เพราะโอนผ่าน prompay, mobile banking  

“แม้เราจะรู้สึกว่า เราโอนให้กันเองได้โดยตรง ผ่าน prompay, mobile banking  แต่จริงๆ แล้วหลังบ้านก็ยังต้องผ่านตัวกลาง คือ ธนาคารพาณิชย์”          

เข้าสู่ยุคที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ การที่ธนาคารกลางทั่วโลกหันมาศึกษาริเริ่มพัฒนา “สกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลาง” หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หากดูจากองค์ประกอบของประโยค “เงิน+ดิจิทัล+ออกโดยธนาคารกลาง” มันก็คือเงินสดหรือธนบัตร ที่แบงก์ชาติออกให้ประชาชนใช้จ่าย เพียงแค่มันอยู่ในรูปของ  “ดิจิทัล” เมื่อเหมือนเงินสดมันจึงโอนให้กันได้โดยที่ “ไม่ผ่านตัวกลาง” ซึ่งมันสามารถทำได้โดยอาศัย Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชน  

“จริงๆ มันเหมือนกับว่า..เรากำลังจะหวนกลับไปสู่ยุคเริ่มแรก ที่ยื่นธนบัตรให้กันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่สิ่งที่ต่าง คือ มันไม่ใช่ธนบัตรที่เป็นกระดาษแต่เป็นเงินดิจิทัล และโอนจำนวนมากๆ ได้”


 

***ทดลองใช้ CBDC โอนเงินล็อตใหญ่ระหว่างแบงก์ (Wholesale) 


ปี 2561 ธปท.จึงได้ริเริ่ม “โครงการอินทนนท์” ร่วมกับ 8 แบงก์ ทดลองนำ CBDC มาใช้ในการชำระเงินล็อตใหญ่ๆ (Wholesale) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางคือ ธปท.จากระบบปัจจุบันการโอนเงินระหว่างแบงก์จะทำผ่านบัญชีเงินฝากที่แต่ละแบงก์เปิดไว้กับ ธปท. เรียกว่าระบบ "บาทเนต" (BAHTNET) ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับการชำระเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงิน (Real Time Gross Settlement:RTGS) ที่ไทยที่ใช้มาแล้ว 25 ปี (เริ่มใช้ปี 2538)  

นอกจาก การทดลองใช้ CBDC โอนเงินล็อตใหญ่กันระหว่างแบงก์แล้ว ธปท.ยังได้ทดลองใช้ CBDC ในการโอนเงินข้ามประเทศ โดยทดสอบร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง เพื่อแก้ปัญหาที่ต้องผ่านหลายตัวกลางในการยืนยันความน่าเชื่อถือ จึงเกิดการทดลองโครงการอินทนนท์ในเฟสที่ 3 และทดสอบจบไปแล้วครบทั้ง 3 เฟสเมื่อสิ้นปี 2562   

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ธปท.เผย อินทนนท์เฟส3 โอนสกุลเงินดิจิทัลข้ามประเทศได้แบบเรียลไทม์

"โครงการอินทนนท์ทดสอบจบไปแล้ว ฟังก์ชันการโอนเงินไม่มีปัญหา แต่อันที่อาจจะยังเห็นไม่ชัดคือเรื่องของ Scalability หรือความสามารถของระบบในการรองรับปริมาณธุรกรรม สมมุติโอนเงินกันทีเป็น 10,000 เป็น 100,000 ธุรกรรมต่อวินาทีทำได้มั๊ย เป็นต้น ซึ่งอันนี้ยังไปไม่ถึง เพราะเทคโนโลยีมันยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในเรื่องของ Scalability เรื่องของความเร็วที่อาจจะยังไม่มาก แต่เราได้เห็นภาพแล้วว่า Wholesale  ทำได้ เพิ่มประสิทธิภาพการโอนเงินได้"

***จบ Wholesale ก็ขยับสู่ Retail เริ่มจากระดับ “ภาคธุรกิจ” ก่อน   

หลังจาก ธปท.ได้ทดลองใช้ CBDC แบบ Wholesale จบไปแล้วในโครงการอินทนนท์ โครงการต่อมาที่ ธปท.จะทดลองคือการลงมาทำเรื่อง Retail หรือระบบการชำระเงินด้วย CBDCในภาคประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ขั้นแรกจะยังลงไปไม่ถึงตรงนั้น แต่จะเริ่มเรียนรู้จากการทดลองในระดับภาคเอกชนก่อน  

“เราอยากจะทดลองดูว่า ถ้าภาคธุรกิจเอา CBDC ไปใช้ มันมีฟังก์ชันอะไรบ้างที่จำเป็น ที่เขาอยากได้ มันคงไม่ใช่แค่เรื่องโอนเงินธรรมดา เพราะ DLT มันมีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่สามารถทำได้ เช่น การเขียนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ใส่เงื่อนไขต่างๆ ลงไป เราจะได้เข้าใจมันมากขึ้นว่า หากจะใช้จริงๆ มันมีฟังก์ชันอะไรบ้างที่จำเป็น”  

 

***บ.ปูนต์ซิเมนต์ไทย รายแรกนำร่องทดสอบใช้ CBDC ในการชำระเงิน

เมื่อวันที่ 18มิ.ย.ที่ผ่านมาธปท.จึงประกาศเปิดตัวโครงการร่วมกับบริษัทปูนต์ซิเมนต์ไทย (SCG) เพื่อร่วมทดสอบการใช้ CBDC โดย CBDC จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง SCG กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยมี บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบด้วย เริ่มทดสอบระบบเดือนกรกฎาคมนี้ และจะแล้วเสร็จในปลายปีเดียวกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : SCG ลงนามธปท.-ดิจิทัลเวนเจอร์ส พัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัล 

“การนำร่องทดสอบใช้ CBDC กับ SCG มันคือการหลุดออกจาก Wholesale มาแล้ว มันมาเป็น Corporate และก็ลงไปซัพพลายเชน ซึ่งซัพพลายเชนมันก็บิดไปทาง Retail หน่อยๆ แล้ว แต่มันยังไม่ถึงกับเป็นปัจเจกบุคคล แบบนาย ก. นาย ข. มันยังเป็น Corporate อยู่ เพราะเราจะดูเรื่องความต้องการของธุรกิจ ก่อนที่จะไปถึงความต้องการของประชาชนซึ่งจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน”   

ไม่เพียงเท่านี้อีกโครงการที่จะทดสอบคู่ขนานกันไปในปีนี้คือ การทดสอบใช้ CBDC โอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง เป็นการต่อยอดจากเฟส 3 ของอินทนนท์ ด้วยการขยายขอบเขตการเชื่อมต่อลงไปยังภาคธุรกิจของแต่ละฝั่ง เช่น ธปท.กับสถาบันการเงิน เชื่อมต่อระบบลงไปยังภาคเอกชน (อาจจะเป็น SCG หรือไม่ใช่ก็ได้) ส่วนธนาคารกลางฮ่องกงก็ทำเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ขอบเขตการทดสอบกว้างขึ้น และในอนาคตจะลองเชื่อมต่อกับธนาคารกลางหลายๆ แห่ง 

“ตอนนี้เรากำลังประสานงานกับธนาคารกลางฮ่องกงอยู่ ดูเรื่องขอบเขตการทดลอง ก็ทำคู่ขนานกันไปกับโครงการของ SCG ซึ่งเป็นการทดลองในประเทศ คาดว่าภายในปลายปีนี้ ก็น่าจะพอเห็นภาพว่าจะเดินไปอย่างไร กับฮ่องกงอาจจะเสร็จปลายปีนี้ หรือไม่อาจจะเลื่อนไปอีกสักหน่อย ราว 2-3 เดือน”  


 

***อนาคตมุ่งสู่ Retail CBDC (ประชาชนใช้งาน) แต่ต้องค่อยเป็นไปค่อยไป  

คุณวชิรา เล่าว่า การที่จะลงไปถึง CBDC ที่ใช้สำหรับประชาชนทั่วไปจริงๆ นั้น ผลกระทบค่อนข้างมาก  โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเรื่อง Central Bank Digital Currency ประชาชนอาจจะมองภาพว่าต่อไปนี้ จะไม่มีธนาคารพาณิชย์แล้วใช่ไหม และการมี CBDC ระบบการเงินมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งที่เห็นกรณีตัวอย่างจะมีหลายโมเดลในต่างประเทศ แล้วแต่ว่าประเทศไหนจะออกแบบอย่างไร อย่างเช่นประเทศจีน ใช้โมเดล two-tiered system คือไม่ได้เปลี่ยนระบบนิเวศเดิม ธนาคารพาณิชย์ยังมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่บทบาทอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง  


“อย่างกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ปัจจุบันเวลาแบงก์ชาติทำนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะส่งผ่านไปที่ธนาคารแล้วธนาคารจะส่งผ่านสู่ประชาชน  ทั้งในรูปของดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ แต่ถ้าในอนาคตจะออกใช้ CBDC จริงๆ หน้าตาจะเป็นอย่างไร ก็ต้องไปดูเรื่องของผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของระบบสถาบันการเงินที่จะต้องเอามาช่วยกันคิด ช่วยกันดู ช่วยกันออกแบบ เป็นอะไรต้องอาศัยความร่วมมือ เพราะอันนี้คือโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงิน"  


***ธนาคารจะยังอยู่ในระบบ แต่บทบาทหน้าที่อาจปรับเปลี่ยน


ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย หากในอนาคตมีการออกใช้ CBDC กับภาคประชาชนจริงๆ ธนาคารพาณิชย์จะยังอยู่ในระบบ ในฐานะตัวกลางแต่บทบาทอาจจะปรับเปลี่ยนได้บ้างแล้วแต่ฟังก์ชัน ยกตัวอย่าง การออกแบบ CBDC ให้ประชาชนถ้าหากไทยเลือกใช้โมเดลแบบจีน คือ Retail CBDC แทนธนบัตรแปลว่ามันไม่มีดอกเบี้ย (เพราะการถือเงินสด เราไม่ได้ดอกเบี้ยอยู่แล้วเว้นแต่จะฝากไว้ที่ธนาคาร) ดังนั้น เมื่อมีสกุลเงินดิจิทัลในวอลเล็ตมันไม่ได้ดอกเบี้ย ประชาชนก็คงจะถือเงินดิจิทัลไว้กับตัวไม่มาก แต่จะถือไว้แค่พอใช้จ่าย ที่เหลือก็จะยังคงฝากธนาคาร  นอกจากนี้ โมเดลแบบจีนธนาคารกลางจะกระจายเหรียญไปยังประชาชนผ่านธนาคาร ดังนั้น เห็นได้ว่าธนาคารก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางอยู่     

นอกจากนี้ หน้าที่ของธนาคารในฐานะตัวกลาง ไม่ใช่การทำเพียงแค่รับฝากเงินหรือปล่อยกู้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเชื่อใจ เช่น เรานำเงินฝากไว้กับธนาคาร และธนาคารนำเงินฝากนั้นไปปล่อยสินเชื่อ ธนาคารจะมีกระบวนการวิเคราะห์ก่อนให้สินเชื่อ กล่าวคือ ทำหน้าที่วิเคราะห์ผู้กู้แทนผู้ฝากเงิน แม้อาจจะมองได้ว่าในอนาคตอาจใช้  Big Data หรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย แต่ก็มองว่าอาจทำให้บทบาทของธนาคารค่อยๆ เปลี่ยน แต่บทบาทในฐานะคนกลางจะยังจำเป็นอยู่ 


“ธนาคารจะยังมีอยู่ แต่ถ้าอีก 100 ปีอันนี้ไม่รู้นะ ตอบไม่ได้  มันก็พัฒนาการของมัน มันเป็นอะไรที่แบงก์เองก็คงค่อยๆ ปรับตัวไปอยู่ดี ก็ไม่ได้คิดว่าแบงก์จะ...อย่างที่คนชอบคิดว่า แบงก์จะหาย แบงก์จะหาย เราก็ไม่ได้คิดว่าแบงก์จะหายไปทีเดียว”  


 

***หากออกใช้จริง เชื่อว่าประชาชนแทบจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง

"(แนวโน้มที่จะออกใช้จริงอีกอีกกี่ปี?) ต้องบอกว่า...เราใช้คำว่า เราเตรียมความพร้อม แล้วก็..ถ้าจะเห็นนะ เราก็คิดว่าถ้ามันเกิด มันจะไม่ใช่ลักษณะที่ว่าทุกอย่างดิสรัปต์ แล้วก็มีดิจิทัลเคอร์เรนซีขึ้นมา แล้วโลกก็เปลี่ยนทันที ไม่ใช่แบบนั้น มันคงจะเป็นระบบที่มันอยู่ร่วมกันได้ มันคงจะมีทั้ง 2 ระบบคู่ขนานกันไป ค่อยๆ ไป เพราะอย่างขนาดของจีนเองที่เขาลองเขาก็เอามาแทนแค่ธนบัตร แต่จริงๆ ในระบบการเงินมันไม่ได้มีแค่เงินธนบัตร มันยังมีตัวอื่นอีกที่อยู่ในระบบได้...เราต้องไปคิดอีกเยอะเลยว่า หน้าตามันจะออกมาอย่างไร" 

แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินซึ่งอยู่หลังบ้าน ที่อาจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หน้าบ้านประชาชนอาจแทบไม่เห็นหรือรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงอะไร ยกตัวอย่าง ฟังก์ชันการโอนเงิน ประชาชนก็จะโอนเงินให้กันผ่านแอปในสมาร์ตโฟนเหมือนที่ทำในปัจจุบันนี้ แต่หลังบ้านอาจจะไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่สิ่งที่ต้องจินตนาการต่อก็คือความสามารถของ CBDC ที่จะมีลูกเล่นอะไรได้อีก เนื่องจากในทางเทคนิคมันสามารถเขียน Smart Contract หรือคำสั่งต่างๆ ลงไปได้   

 

“กว่าที่จะได้ใช้ CBDC จริงๆ เรื่องการแก้กฎหมายก็คงต้องมาดูว่าอะไรบ้าง แต่คงหลังจากเรื่องฟังก์ชันการทำงาน ตอนนี้เน้นดูฟังก์ชันการทำงานก่อนว่าภาคธุรกิจเน้นอะไร จากนั้นก็มาดูภาคประชาชนเน้นฟังก์ชันอะไร กว่าจะไปถึงใช้จริง ก็ค่อยไปดูว่าถ้าจะใช้จริงต้องแก้ไขกฎหมายอะไร เกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหนบ้างดูหมดทั้งองคาพยพว่าเราอยากเห็นกันวันนี้ทั้งหมดคืออะไร แล้วมันทำเพื่ออะไร ยังไง เราถึงจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง” 


 

***สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธ.กลาง ต่างกับ คริปโทเคอร์เรนซี 

คุณวชิรา กล่าวว่า ประชาชนเข้าจะยังใจผิดไปว่า “คริปโทเคอร์เรนซี” คือ “เงิน” เนื่องจากมีคำว่า “เคอร์เรนซี” รวมอยู่ด้วยแต่จริงๆ แล้ว “คริปโทเคอร์เรนซี”  ถูกจัดกลุ่มเป็น  “สินทรัพย์ดิจิทัล” ไม่ใช่ “เงินตรา” ตามกฎหมาย เพราะคุณสมบัติของ “เงินตรา” จะต้องเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นหน่วยวัดมูลค่า เก็บรักษามูลค่าได้ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคม และสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่คริปโทเคอร์เรนซีมีราคาผันผวนมาก และเมื่อนำไปใช้หนี้อีกฝ่ายมีสิทธิ์ปฏิเสธรับการชำระหนี้ได้


“ถ้า A ติดหนี้ B อยู่แล้วเอาเงินบาทไปชำระยังไง B ก็ต้องรับ แต่ถ้าเกิด A บอกจะเอาบิตคอยน์ไปชำระ B ไม่จำเป็นต้องรับก็ได้ และอีกอันที่สำคัญมากๆ เงิน มันคือเรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น เราก็เลยแยกเรื่องของคริปโทเคอร์เรนซีออก เรามองว่ามันไม่ใช่เงิน มันเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล” 


 

***ธปท.เมินใช้บริการแพลตฟอร์ม Libra แม้เปิดทางสร้าง CBDC ได้

 

ในช่วงท้าย เราได้ถามความคิดเห็นของ ธปท.เกี่ยวกับข่าวคราวของ Libra ล่าสุดที่ออกมา ได้ปรับปรุง White Paper เป็นฉบับที่ 2 โดยจะมีการเปิดแพลต ฟอร์มให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศสามารถมาสร้างสกุลเงินดิจิทัลแห่งชาติของตนเองได้ แต่จะต้องมีเงินสกุลของประเทศนั้นๆ ตรึงมูลค่าเหรียญที่ออก เช่น หากสหรัฐออกก็เป็น LibraUSD  ,หากยุโรปออกก็เป็น LibraEUR หากอังกฤษออกก็เป็น LibraGBP เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ ธปท. มองว่า “เป็นการสร้างเหรียญคนละประเภทกับที่ธนาคารกลางจะทำ”    

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : Libra 2.0 การพลิกเกมครั้งใหญ่ของเฟซบุ๊ก! 


แพลตฟอร์มของ Libra ใช้สำหรับสร้างเหรียญประเภทสเตเบิ้ลคอยน์ หรือเหรียญที่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำมูลค่า แต่เหรียญที่ออกโดยธนาคารกลาง คือ “เงิน” ที่ถูกต้องตามกฎหมายในตัวอยู่แล้วเพียงแค่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ดังนั้น เมื่อเป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลางก็ไม่ควรที่จะไปผลิตเหรียญร่วมกับเอกชน ที่สำคัญรูปแบบของ Libra เป็นสเตเบิ้ลคอยน์ ไม่ใช่ CBDC 

 

“ถ้าเราบอกว่าเราพูดถึง Central Bank Digital Currency  ออกโดย Central Bank แล้วจะไปทำกับเขา แล้วแปลว่าเงินเขาหรือเงินเรา มันแปลว่าเงินที่ออกโดยแบงก์ชาติหรือเปล่า...Libra ทำให้คนตื่นตัวขึ้นเยอะ..แต่มองว่า Libra ถ้าจะมาก็อาจจะอยู่ในรูปของสเตเบิ้ลคอยน์ ไม่ใช่ CBDC อยู่ดี..และถ้ามันเป็นสเตเบิ้ลคอยน์  มันก็ต้องเข้าไปอยู่ในกติกาของแต่ละประเทศว่าเขาตีความอย่างไร ต้องไปดูเกี่ยวกับเรื่องของ e-Money ไหม ก็ยังเข้าใจว่าในหลายๆ ประเทศ ก็ยังตีความอยู่ว่าเข้าข่ายหรือเปล่า"  

******************************

 

 

 

 

 

 

ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม


Let's block ads! (Why?)



"ทำมัน" - Google News
July 03, 2020 at 02:50PM
https://ift.tt/2YXK5YV

คุยกับแบงก์ชาติ อนาคต “บาทดิจิทัล” - efinanceThai
"ทำมัน" - Google News
https://ift.tt/2yR92uw
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2

Bagikan Berita Ini

0 Response to "คุยกับแบงก์ชาติ อนาคต “บาทดิจิทัล” - efinanceThai"

Post a Comment

Powered by Blogger.