"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ปมปัญหาความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในยุคนี้เกิดเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนได้สืบทอดอำนาจเพื่อรักษาระบบอภิสิทธิ์สำหรับพวกพ้องของตนเองเอาไว้ เครือข่ายอภิสิทธิ์ชนมี อดีตสามผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นแกนนำ มีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เป็นกรอบแม่บทกำหนดโครงสร้างและแนวทางจัดสรรอำนาจ มีหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการปฏิบัติ มีกลุ่มทุนขนาดยักษ์ สื่อมวลชนและนักวิชาการขวาจัดบางคนให้การสนับสนุนเกื้อกูล
รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ถูกออกแบบโดยเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยที่มีแกนนำ คสช. เป็นผู้กำกับบงการ เป็นรัฐธรรมนูญที่ผนึกรวมกลุ่มอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายและแขนขาของพวกเขาแทบทุกวงการให้มาอยู่รวมกันภายในวงจรอำนาจ ซึ่งมีเป้าหมายหลัก ๓ ประการ ๑) เพื่อรักษาและสืบทอดอำนาจครอบงำ และบงการชีวิตของประชาชนให้ยาวนานที่สุด ๒) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจทั้งกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ นักการเมือง กลุ่มทหารและข้าราชการระดับสูง และกลุ่มผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์จากหลากหลายอาชีพ และ๓) เพื่อสร้างกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการทำลายผู้ท้าทายระบบอภิสิทธิ์
กลไกหลักที่เครือข่ายอำนาจใช้เพื่อสืบทอดอำนาจคือ ๑) วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งหน้าที่หลักของพวกเขาคือปฏิบัติตามคำสั่งและรับใช้ผู้แต่งตั้งโดยปราศจากเงื่อนไข ทั้งการลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์ อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี การปกป้องรัฐบาลในทุกโอกาสทั้งการอธิบายแก้ตัวแทนหรือการตอบโต้ผู้วิจารณ์ระบบอิภสิทธิ์ทางการเมือง และการเลือกบุคคลที่หัวอ่อนว่าง่ายไปดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ๒) พรรคการเมือง อันได้แก่พลังประชารัฐที่รวบรวมเอานักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลและเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวเข้ามาเป็นฐานในสภาผู้แทนราษฎร และรวมไปถึงการกวาดต้อนนักฉวยโอกาสทางการเมืองในพรรคเล็ก พรรคน้อย ที่ได้เข้ามาเป็น ส.ส. ด้วยวิธีการคำนวณอันพิสดารของคณะกรรมการเลือกตั้ง และ ๓) กกต. ซึ่งมาจากการเลือกสรรของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเป็นสภาตัวแทนอำนาจของ คสช.ในยุคเผด็จการคณาธิปไตย การทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งของกกต. มีหลักฐานหลายอย่างที่ตีความได้ไม่ยากว่า เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์แห่งการสืบทอดอำนาจของ คสช. เช่น ความล่าช้าและหละหลวมในการดำเนินการเรื่องการระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐ ความไร้ประสิทธิผลในการป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง และการตีความการคำนวณที่นั่งของ ส.ส. พรรคเล็กที่แปลกประหลาด เป็นต้น
เมื่อได้สืบทอดอำนาจสมประสงค์ การกำหนดนโยบายและการตัดสินใจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เครือข่ายธุรกิจและนักการเมืองก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจากคราวเมื่อครั้งเป็นรัฐบาล คสช. ทิศทางของนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นนโยบายที่ทำให้กลุ่มเจ้าสัวอภินายทุนยักษ์ใหญ่ร่ำรวยและมั่งคั่งเพิ่มขึ้นหลายแสนล้านบาทในช่วงห้าปีเศษของรัฐบาล คสช. อย่างเช่น การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง มิหนำซ้ำยังพยายามจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดสงขลาโดยไม่ฟังเสียงประชาชน การออกกฎหมายกำหนดมาตรการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างเต็มที่ เป็นต้น
นโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ทหารระดับสูงที่เห็นได้ชัดเจนคือ การตั้งงบประมาณจำนวนมหาศาลซื้ออาวุธสารพัดชนิด ทั้งที่ประเทศประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รวมทั้งการซื้อเครื่องบินสำหรับบริการนายทหารระดับสูง และการไม่มีเจตนารมย์และนโยบายปฏิรูปกองทัพแต่อย่างใด แม้ว่ากองทัพมีอาการของปัญหาหลายอย่างปะทุออกมาสู่สาธารณะก็ตาม เช่น การสังหารหมู่โดยนายทหารชั้นประทวนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายทหาร การเปิดเผยการทุจริตในองทัพของทหารระดับชั้นประทวน และการเป็นแหล่งการแพร่ระบาดของโรควิด ๑๙ ของสนามมวยลุมพินีที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทัพ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่ชื่อพลเอกประยุทธ์ ทั้งสิ้น
ส่วนนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ นโยบายเหนี่ยวรั้งการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ยอมกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อให้ตนเองและบรรดาข้าราชการที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในจังหวัดและอำเภอสามารถครอบงำและบงการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยาวนานที่สุด ด้วยเป็นที่ทราบกันว่าการยึดอำนาจเอาไว้ย่อมทำให้มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากบรรดาโครงการต่าง ๆ ขององค์ปกปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศซึ่งมีอยู่มหาศาล โดยเฉพาะโครงการด้านพลังงานชุมชนและการกำจัดขยะ เป็นต้น
ส่วนบรรดานักการเมืองที่เป็นพวกพ้องเครือข่ายของตนเองก็ได้รับการจัดสรรแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์กันอย่างทั่วหน้า แต่ละพรรคต่างก็เข้าไปจัดการควบคุมกระทรวงที่ตนเองต้องการและมีช่องทางในการแสวงหาประโยชน์มากมาย ส่วนนโยบายที่เคยใช้ในช่วงหาเสียงเกือบทั้งหมดถูกเก็บไว้ในลิ้นชักและแสร้งทำเป็นลืม เช่น นโยบายกัญชาเสรี นโยบายลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนของบางพรรค เป็นต้น ที่ทำอยู่ก็ทำเพียงแจกเงินแก่บางกลุ่มบางพวกที่เห็นว่าสามารถสร้างคะแนนนิยมได้เท่านั้น
สำหรับการปฏิรูปการเมือง การศึกษา ระบบยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบราชการ เป็นต้น ก็มีคณะกรรมการมากมาย แต่ไร้ผลงานในการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ การปฏิรูปกลายเป็นเพียงพิธีกรรมแห่งการสร้างฉากที่สวยหรูเพื่อปกปิดความเน่าเฟะของระบบต่าง ๆ ในสังคมเอาไว้ เพียงแต่ว่าจะปิดอย่างไรก็ปิดไม่ได้ ในที่สุดกลิ่นเหม็นเน่าก็โชยออกมา ดังที่เห็นได้จาก การแก่งแย่งอำนาจและตำแหน่งในรัฐบาล การวิปริตของระบบยุติธรรมกรณีอัยการและตำรวจสั่งไม่ฟ้องทายาทกระทิงแดงที่ฉาวโฉ่ไปทั้งโลกจนผู้มีอำนาจต้องเต้นเป็นเจ้าเข้ากันทั้งเมือง ความยากจนอันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของการบริหารและการผูกขาดทางเศรษฐกิจของนายทุนขนาดยักษ์ และการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกิดขึ้นวันแล้ววันเล่าและนับวันก็ยิ่งมีมากขึ้น
เมื่อประชาชนทนไม่ได้และไม่ยอมทนกับการครอบงำบงการของเครือข่ายอภิสิทธิ์ชน พวกเขาออกมาต่อสู้ในหลากลายรูปแบบ บางกลุ่มก็ไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งขัน บางกลุ่มก็วิพากษ์วิจารณ์ และบางกลุ่มก็เลือกแสดงออกโดยการชุมนุมทางการเมือง เครือข่ายอภิสิทธิ์ชนก็ได้สร้างกลไกเพื่อจัดการในทุกขั้นตอน ดังในกรณีพรรคการเมืองก็มีทั้ง กกต.และศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกที่ทรงพลานุภาพในการจัดการกับพรรคการเมืองที่บังอาจท้าทายอำนาจ มีหน่วยปฎิบัติการข่าวสารคอยตอบโต้โดยการเสกสรรค์ปั้นแต่งข้อมูลและใส่ร้ายผู้ท้าทายรัฐบาลอย่างเป็นระบบ และยังมีกฎหมายคอมพิวเตอร์และตำรวจเพื่อคุกคามและดำเนินคดีกับกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มที่ทรงพลังมากที่สุดในการท้าทายเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนเห็นจะเป็นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งสะสมความไม่พอใจอย่างยาวนานต่อการบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์และเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนในระบบคณาธิปไตย จนกระทั่งถึงจุดที่ทนไม่ได้หรือไม่ทนอีกต่อไป พลังของพวกเขาปะทุออกมาอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกเมื่อปลายปี ๒๕๖๒ และยุติไประยะหนึ่งอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ ครั้นเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แต่รัฐบาลคณาธิปไตยของพลเอกประยุทธ์และกลุ่มอภิสิทธิ์ชนไม่มีแนวโน้มว่าจะผ่อนคลายการควบคุมทางการเมือง กลับยืดอายุการใช้ภาวะฉุกเฉินครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งการบริหารเศรษฐกิจของประเทศนับวันก็ยิ่งเลวร้ายลง จนทำให้คนตกงานนับสิบล้านคนและกำลังนำประเทศไปสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจในอีกไม่ช้า และไม่มีสัญญาณใดที่ทำให้เกิดความหวังได้แม้แต่น้อยว่ารัฐบาลคณาธิปไตยของพลเอกประยุทธ์จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้
ภายใต้เงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่เช่นนี้ เยาวชนทั้งประเทศจึงได้ออกมาแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมโดยชุมนุมในพื้นที่สาธารณะอีกครั้งในกลางเดือนกรกฏาคม ๒๕๖๓ และการชุมนุมขยายตัวออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ภายใต้ข้อเรียกร้องเริ่มแรก ๓ ข้อ คือ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต่อมาเมื่อมีการขยายการชุมนุมมากขึ้นข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมและเป็นหัวใจของการเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งก้เกิดขึ้นตามมา นั่นคือให้ “พลเอกประยุทธ์ ลาออก” ในที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็ถูกเดินขบวนขับไล่จนได้ เป็นไปตามที่คาดเอาไว้
ทันทีที่มีเยาวชนได้เริ่มชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่ท้าทายอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน เครือข่ายอภิสิทธิ์ชนก็ได้ดำเนินการตอบโต้ในหลายหลายรูปแบบตั้งแต่ การทำลายความน่าเชื่อถือ การบิดเบือนเจตนารมณ์หลักของการเคลื่อนไหว การติดตามเพื่อข่มขู่ การทำโครงการดับอนาคต การใช้กฎหมายดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุม การจัดตั้งมวลชนเพื่อตอบโต้ และอาจพัฒนาไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในอนาคตก็ได้
ความต้องการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของเครือข่ายอภิสิทธิ์ชน และพฤติกรรมที่กัดกร่อนทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย สั่นคลอนระบบยุติธรรม เย้ยหยันศีลธรรมของสังคม และดูแคลนไม่ให้คุณค่าต่อธรรมาภิบาลจึงเป็นต้นตอแห่งความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ การต่อสู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง วัฏจักรของความขัดแย้งแบบนี้ในสังคมไทยจะเคลื่อนตัวและกลายเป็นรูปลักษณ์ใดคงต้องติดตามกันต่อไป
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
July 31, 2020 at 06:29PM
https://ift.tt/3jRJbpf
เครือข่ายอภิสิทธิ์ชนและปมความขัดแย้งทางสังคม - ผู้จัดการออนไลน์
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เครือข่ายอภิสิทธิ์ชนและปมความขัดแย้งทางสังคม - ผู้จัดการออนไลน์"
Post a Comment