จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมามาตรการล็อกดาวน์ประเทศทำให้แรงงานตามเมืองใหญ่ต้องกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดจำนวนมาก และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆจนกิจการหลายประเภทเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่บางรายยังไม่สามารถกลับไปทำงานเหมือนเดิมได้ อันเนื่องมาจากธุรกิจ หรือกิจการเหล่านั้นต่างได้รับผลกระทบเชิงรายได้ จนส่งผลให้พวกเขาต้องอยู่ในสถานะว่างงาน
จากปัญหาดังกล่าว มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเล็งเห็นว่า “อาชีพเกษตรกรรม” ถือเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานคืนถิ่น เนื่องจากพวกเขามีต้นทุนดีอยู่แล้ว ทั้งมีพื้นที่ และแหล่งน้ำภายในท้องถิ่นของตัวเอง เพียงแต่ขาดการบริหารจัดการไม่ดีนัก ดังนั้น หากจะทำเกษตรแบบยั่งยืนจะต้องแก้ปัญหาด้านน้ำก่อนเป็นอันดับแรก
ผลเช่นนี้ ปิดทองหลังพระฯ จึงจัดทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมฐานรากขึ้นมา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการว่างงาน และแก้ปัญหาด้านน้ำไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการนำร่องใน 3 จังหวัดภาคอีสานที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบ คือ กาฬสินธุ์, อุดรธานี และขอนแก่น ภายใต้กรอบระยะเวลาดำเนินโครงการจำนวน 3 เดือนคือ ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563
สืบสานแนวพระราชดำริ
“ประสิทธิ์ โอสถานนท์” ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ, ภัยแล้ง และการระบาดของโควิด-19 จนเป็นเหตุให้คนทำงานในสถานประกอบการตามเมืองใหญ่ ๆ ต้องกลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิด ปิดทองหลังพระฯจึงวางแผนช่วยเหลือประชาชน โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำงานที่เรียกว่า 4 ประสาน 3 ประโยชน์
“อันหมายถึงการร่วมมือกันระหว่าง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ประชาชน, ชาวบ้าน, เกษตรกร และราชการ (กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, หน่วยงานระดับจังหวัด, เอกชน) มาช่วยเรื่ององค์ความรู้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเป็นช่องทางการจำหน่าย และการตลาด ขณะที่ปิดทองหลังพระฯทำหน้าที่ผู้ประสานงาน,วางแนวงานปฏิบัติงานในพื้นที่, วางเกณฑ์คัดเลือกคนว่างงานให้ตรงกับเป้าหมาย พร้อมกับคัดเลือกโครงการที่จำเป็น รวมถึงสนับสนุนเงินทุน, วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยมีทีมอาสาพัฒนา (อสพ.) ของปิดทองหลังพระฯ เข้ามาช่วยดำเนินงาน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสำคัญ 3 ด้าน คือ แหล่งน้ำ, สร้างอาชีพ และองค์ความรู้”
“เป้าหมายโครงการของเราเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำต่อด้วยพัฒนาการเกษตรหลังมีน้ำ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในภาคเกษตร โดยเราจะเลือกแหล่งน้ำที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการ ผ่านกระบวนการประชาคมเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ ที่สำคัญคือคนในชุมชนต้องมีส่วนร่วม และยอมสละแรงงาน จากนั้นจึงจ้างงานคนที่ว่างงานมาช่วยในโครงการ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ และเรียนรู้พร้อมฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริไปพร้อม ๆ กันด้วย”
สร้างงาน-สร้างอาชีพ
“ประสิทธิ์” กล่าวสรุปว่า นับแต่เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563ทั้ง 3 จังหวัดมีการจัดทำโครงการทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ และสร้างอาชีพรวม 107 โครงการ ใช้งบประมาณลงทุนรวม 48.8 ล้านบาท มีการจ้างคนตกงาน (ตัวเลขล่าสุดวันที่ 28 มิถุนายน 2563) รวม 358 ราย แบ่งเป็น กาฬสินธุ์ 130 รายดำเนิน 37 โครงการ ใช้งบประมาณ21.3 ล้านบาท, อุดรธานี 83 ราย 24 โครงการงบประมาณราว 13 กว่าล้านบาท และขอนแก่น 145 ราย ดำเนิน 46 โครงการ ใช้งบประมาณ 14.4 ล้านบาท
“โครงการทั้งหมดครอบคลุม 43 อำเภอ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 5,320 ครัวเรือนและมีพื้นที่รับประโยชน์ 30,990 ไร่ ทั้งยังทำให้ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการคาดการณ์รายได้เกษตรกรจะได้รับ 217 ล้านบาทเฉลี่ยรายได้เพิ่มขึ้น 7,000 บาท/ไร่หรือ 3,400 บาท/เดือน คิดเป็น รายได้ต่อปีเทียบเงินลงทุนเท่ากับ 4.45 เท่าถือว่าบรรลุเป้าหมายหลักของโครงการระดับหนึ่ง เพราะเราหวังให้ผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรในภูมิลำเนาของตัวเอง โดยไม่ต้องกลับไปทำงานที่สถานประกอบการในเมืองเพื่อมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโมเดลขยายการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดด้วย”
กาฬสินธุ์อุ้มคนตกงาน
สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบโครงการของปิดทองหลังพระฯ ดำเนินงานทั้งหมด 37 โครงการ แบ่งเป็นการฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ 15 โครงการ, พัฒนาระบบกระจายน้ำ 22 โครงการ ซึ่งโครงการทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,110 ครัวเรือน สามารถสร้างอาชีพให้เกษตรกรครอบคลุมถึง 9,820 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการเสร็จไปแล้ว 20 โครงการ และอยู่ระหว่างการดำเนินอีก 16 โครงการ เพราะต้องชะลอบางโครงการ เนื่องจากเจอปัญหาน้ำหลาก
“ชัยธวัช เนียมศิริ” ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กาฬสินธุ์มีประชากร 9.8 แสนคน มีคนตกงานถึง 3.7 หมื่นคน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีการปลดล็อกจนธุรกิจกลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว แต่มีแรงงานที่กลับมาทำงานเพียงแค่ 20% หรือประมาณ 7,000 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 30,000 คน ยังอยู่ในขั้นตอนที่จังหวัดจะต้องเตรียมหามาตรการรองรับ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาภัยสังคมตามมา
“อาชีพเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของชาวกาฬสินธุ์ ประชากรกว่า 55% มีอาชีพนี้ และจากพื้นที่ทั้งหมด 4.3 ล้านไร่ ประมาณ 60% หรือ 2.8 ล้านไร่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ที่มีพืชเด่นคือ ข้าว, อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา เพราะออกผลผลิตทุกปี แต่การจะให้ประชาชนที่กลับบ้านมาทำการเกษตรเป็นไปได้ยาก เพราะการทำเกษตรแบบเดิม ๆ ผลผลิตไม่ดีนัก เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เราจึงต้องหาวิธีที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านั้น ด้วยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่มาปรับใช้”
“แม้กาฬสินธุ์จะขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ดินดำน้ำชุ่ม และ 18 อำเภออยู่ในเขตชลประทาน ประมาณ 360,000 ไร่ แต่ที่น่าแปลกคือ GDP ของจังหวัดกลับอยู่อันดับท้าย ๆ ของประเทศเราเคยอยู่อันดับ 75 ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งปลูกข้าว, มันสำปะหลัง, อ้อย มาเป็นเวลานับร้อยปี ทั้งยังมีน้ำในเขื่อนลำปาวความจุ 2,000 ล้าน ลบ.ม. คอยหล่อเลี้ยงไม่เคยแห้งเหือดในรอบ 20 กว่าปีที่ผ่านมาเลย แต่คำตอบคือเราไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ไม่สามารถสร้างระบบการกระจายน้ำเข้าไปยังชุมชนได้”
พัฒนาแหล่งน้ำให้อาชีพ
“ชัยธวัช” กล่าวต่อว่า ตอนนี้เราเสนอเรื่องของบประมาณจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 (งบฯ4 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
โดยทางจังหวัดเสนอของบประมาณไปทั้งหมด 2,012 โครงการ วงเงิน 9,000 ล้านบาท ถือเป็นจังหวัดที่เสนอขอมากที่สุด เพราะเชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับคนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดย 55% เป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการนำมาใช้เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ, สร้างงาน, สร้างอาชีพ และสร้างรายได้
“จากทั้งหมดที่เสนอทราบว่าผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว 23 โครงการ รวม 63 ล้านบาท เพื่อทำพื้นที่ต้นแบบฝายทดน้ำห้วยปอ หมู่ 12 บ้านบัวสามัคคี ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 37 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัด ทั้งยังเป็นฝายขนาดหน้ากว้าง 18 เมตร สามารถจุน้ำได้ประมาณ 36,000 ลบ.ม. เพียงแต่ด้านหน้า และด้านข้างชำรุดเสียหาย มีการรั่วซึมจนกักเก็บน้ำไม่ได้ โครงการจึงเข้ามาซ่อมแซมจุดที่ชำรุด ทำผนังเสริมคอนกรีตด้านหน้า ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่แปลงเกษตร”
ยึดหลักบริหารจัดการน้ำ
“ธนิกา โคตรเสนา” ผู้ใหญ่บ้านบัวสามัคคี ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวเสริมว่า ฝายแห่งนี้กรมชลประทานก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2531และที่ผ่านมาชำรุดมานาน เพิ่งจะได้รับการซ่อมแซมในปี 2551 แต่ยังขาดความแข็งแรง ไม่สามารถทดน้ำได้ ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะหน้าแล้งไม่มีน้ำ ครั้นจะซ่อมแซมต้องใช้งบประมาณสูง จึงปล่อยทิ้งร้างนานถึง 10 ปี
“จนท้ายสุดเกิดไวรัสโควิด-19 ลูกหลานกลับบ้าน และปิดทองหลังพระฯเข้ามาดำเนินโครงการ ทั้งยังให้โจทย์ชุมชนคิดออกแบบซ่อมแซมฝายตามความเหมาะสมของชุมชน พร้อมกับสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ และจ้างงานคนว่างงานให้เข้ามามีส่วนร่วม ทุกคนจึงสละแรงงาน และร่วมกันซ่อมแซม และหลังซ่อมเสร็จหนึ่งฝายก็สร้างเพิ่มอีก 5 ฝาย จนชาวบ้านในอำเภอและใกล้เคียงต่างเข้าร่วมทำเพิ่มอีก 2 ฝาย จึงทำให้ตอนนี้ ห้วยปอมีฝายครบตลอดลำน้ำ รวมทั้งหมด 7 ฝาย”
“ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในเรื่องของการช่วยชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากจากเทือกเขาภูพานที่ไหลลงมาเร็ว และแรงได้ ที่สำคัญยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูกได้มากขึ้น ทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 91 ไร่ สามารถทำการเกษตรตลอดทั้งปี และจากนี้ไปจะต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันที่ไม่เพียงแค่เป็นการทำนาปลูกข้าว, อ้อย,มันสำปะหลังแบบเดิมอีกต่อไป แต่จะส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง เช่น ปลูกถั่วลิสง ที่คาดว่าจะส่งให้ภาคเอกชนเชื่อมโยงกับตลาดอีกด้วย”
ตกงานกลับบ้านเป็นเกษตรกร
“วุฒิพงษ์ องคะศาสตร์” พนักงานประสานงานโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าเดิมทำงานเป็นวิศวกรโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง เงินเดือน 30,000 บาท แต่โรงงานหยุดกิจการชั่วคราวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส จึงกลับภูมิลำเนาอย่างไม่ลังเล เพราะก่อนจะเกิดโควิด ผมมีความคิดอยู่แล้วว่าจะกลับบ้านมาทำอาชีพเกษตรเพราะชอบทำเกษตร และเมื่อกลับบ้านจึงสมัครเข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระฯมีหน้าที่ประสานงานกับชาวบ้าน ได้เงินค่าจ้างเพียงเดือนละ 15,000 บาท
“โดยการทำงานจะมีแบ่งคนดูแลการรับจ้างงานจากปิดทองหลังพระฯ โครงการละ 2-3 ราย ตามขนาดพื้นที่ อย่างห้วยปอก็มีประมาณ 5 ราย แบ่งดูแลฝายแต่ละแห่ง ผู้นำชาวบ้านลงมือบริหารจัดการน้ำ เพราะเขาเห็นความสำคัญของฝายชุมชนว่าจะส่งผลดีอย่างไรต่อไร่นาของพวกเขา แม้เงินค่าจ้างที่ได้รับจากโครงการจะไม่มาก แต่หลังจากนี้ผมคิดจะต่อยอด โดยหันมาทำอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว เพราะวาดฝันไว้ว่าหากโอกาสเหมาะสมจะทำพื้นที่เกษตรเชิงท่องเที่ยวแบบพอเพียงในอนาคต”
ที่ไม่เพียงเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน หากยังทำให้พวกเขาต่างมีความหวังกับการกลับบ้านครั้งนี้ด้วย
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
July 29, 2020 at 10:14AM
https://ift.tt/3jOwMSW
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างงาน-อาชีพ "เกษตรกร" ภาคอีสาน - ประชาชาติธุรกิจ
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างงาน-อาชีพ "เกษตรกร" ภาคอีสาน - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment