หลังจากที่มีการตั้งคำถามมากมายถึงปรากฏการณ์ที่รัฐไทยกระทำ ทั้งๆ ที่รัฐควรเป็นเครื่องมือที่พวกเราทุกคนใช้สิทธิ์ของพวกเราอย่างชอบธรรมจัดตั้งมันขึ้นมาว่า ทว่าทำไมการกระทำหลายๆ อย่างของรัฐเรียกกลับส่งผลให้ประชาชนต้องออกมาต่อสู้กับมัน และอดอยากปากแห้งเพราะมันมากมายขนาดนี้ ซี่งแทนที่รัฐจะเป็นเครื่องมือเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายมากขึ้น กลับกันในทุกวันนี้ เหมือนรัฐทำตัวเองเป็นศัตรู ทุกๆ วันมีแต่เรื่องน่าปวดหัวให้พวกเราวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหายตัวไปของคุณวันเฉลิม การเสนอกฎหมายแปลกๆ อย่างบังคับให้สตรีมเมอร์สามารถสตรีมเกมได้แค่วันละ 2ชั่วโมงต่อวัน การต่อพรก. ฉุกเฉิน ฯลฯ โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นมันช่างทวนกระแสความต้องการของประชาขนเหลือเกิน
ท่ามการสภาวะตึงเครียดที่เราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เรามีรัฐอยู่ในทุกวันนี้เพื่ออะไรกันแน่ แล้วหน้าที่ของรัฐควรเป็นแบบไหน ผมได้ไปเจอ Podcast ที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง และผมก็รู้สึกอยากชวนทุกคนมาลองดูแนวคิดปรัชญารัฐศาสตร์ของนักปรัชญาอเมริกันที่มีชื่อว่า Robert Nozick
ผมขออนุญาตเกริ่นก่อนสักเล็กน้อยก่อนจะเข้าสู่งานแปลชิ้นนี้ โรเบิร์ต โนซิกเป็นนักปรัชญารัฐศาสตร์ผู้ใช้ชีวิตร่วมสมัยกับนักปรัชญารัฐศาสตร์ชื่อก้องอย่าง John Rawls หรือผู้เขียนหนังสือ Theory of Justice ซึ่งปัจจุบันมีงานการนำอัตชีวประวัติและแนวคิดสำคัญของรอว์มาทำเป็นหนังสือภาษาไทยบ้างแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “จอห์น รอลส์ : ว่าด้วยทฤษฎีความยุติธรรมและชีวิตของจอห์น รอลส์” ซึ่งทั้ง โนซิก และรอว์นั้นต่างก็เป็นเจ้าแห่งนักปรัชญาการเมืองในศตวรรษที่ 20 ด้วยกันทั้งคู่
แนวคิดของทั้งสองกล่าวได้ว่าหาตัวจับได้ยาก และในไทยยังขาดแคลน (หรือมันลับแลมากจนผมหาไม่เจอ) งานแปลภาษาไทยของทั้งคู่อยู่ และการแปลที่ทุกท่านกำลังจะได้อ่านต่อไป กระผมก็ไม่ได้เป็นคนสรุปความคิดเขามาแต่ประการใด กระผมเพียงแต่เห็นว่าทาง Philosophize This โดยพิธีกร สตีเว่น เวสต์ (Stephen West) ซึ่งเป็นรายการถกปรัชญาสามารถอธิบายได้ชัดเจน เข้าใจ และชวนให้ฟัง ผมเลยถือโอกาสมาแปลซะหน่อย แต่หากใครใคร่อยากหาฟังเอง เผื่อจะเข้าใจเนื้อหาที่เป็นภาษาอังกฤษได้ดีกว่าที่ผมแปลมานี่ ลิงค์สามารถหาได้ในแหล่งอ้างอิงข้างล่างนะครับ
ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Robert-Nozick
มันมีปัญหามากมายที่นักปรัชญาการเมืองเคยเผชิญในช่วงศตวรรษที่ 20 และพวกเราเคยพูดกันไปบ้างแล้วหลายครั้ง แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่เรายังไม่เคยคุยกันเลย – โดยเฉพาะสำหรับนักปรัชญาการเมืองในช่วงกลางๆ ศตวรรษที่ 20 – หนึ่งในคำถามที่ใหญ่ที่สุดที่เหล่านักคิดเผชิญก็คือ เมื่อพวกเรา (ประชาชน) เจอกับปัญหาใหญ่ๆ โดยพวกเราทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาในระดับสังคม. รัฐหรือคณะรัฐมนตรีควรเป็นเครื่องมือแรกที่พวกเราใช้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นหรือไม่? เราต้องมอบความรับผิดชอบเท่าไหร่ให้แก่รัฐบาล? รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการที่ดีที่สุด หรือการมอบภาระหน้าที่ให้รัฐบาลจัดการจะยิ่งสร้างปัญหามากกว่า? อีกปัญหาสำคัญที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้คือ เมื่อเราค่อยๆ มอบภาระหน้าที่ และความคาดหวังให้แก่รัฐบาล โดยที่พวกเขาจะต้องคอยการันตีให้ เมื่อคุณมีชุดรัฐบาลขนาดใหญ่ที่มาจากประชาธิปไตย ที่คุณคอยมอบภาระให้ทำ รัฐบาลชุดใหญ่กับประชาธิปไตยจะเท่ากับการเผด็จการของคนส่วนใหญ่หรือไม่? และประชาชนทั้งหมดที่ไม่สมยอมกับกับคนส่วนใหญ่ หรือคนที่ถือตำแหน่งในราชการ พวกเขาจะต้องยอมเสียภาษีเพื่อไปจัดตั้งกองทุนสำหรับสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วยหรือไม่? บางทีการมีรัฐบาลที่ “ใหญ่เกินไป” รั้งแต่จะกดขี่ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับรัฐบาล หรือคนส่วนมากเหมือนทาส สำหรับผมแล้วนี่เป็นปัญหาสำคัญ และสนุกที่จะขบคิดในเชิงปรัชญาการเมือง
ทว่าลองมาตรวจสอบปัญหาทีละอย่างกันดีกว่า, รัฐควรเป็นเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาระดับสังคมหรือไม่... เอาละ อย่างที่คุณจินตนาการไว้เมื่อคุณถามคำถามที่กว้างอย่างนี้ขึ้นมา คำตอบที่คุณจะได้รับก็คงมากมายหลากหลายเช่นเดียวกัน ครั้งก่อน เราได้พูดคุยเกี่ยวกับ จอร์น รอว์ (John Rawls) และงานของเขา A Theory of Justice และ รอว์คงเป็นตัวอย่างชั้นดีของนักคิดในช่วงท้ายศตวรรษที่ 20 ผู้อยู่ฝั่งสนับสนุนในเรื่องรัฐ ‘เป็น’ หนทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดของเรา เราเจอเหตุผลนี้ได้ในงานของเขา เขาได้แสดงในสิ่งที่เขาคิดว่าเท่าเทียม และการจัดจ่ายผลผลิตภายในสังคมอย่างยุติธรรม ซ้ำยังแนะนำอีกว่า มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จัดเก็บภาษี และเพื่อรับรองว่าการจัดสรรจะได้รับการแจกจ่ายกลับคืนอย่างยุติธรรมและไม่เอียนเองไปที่ใดที่หนึ่ง
แต่ แน่นอน ก็ยังมีนักคิดบางคนเห็นต่างจาก รอว์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากที่สุดของคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขาคงเป็นพวกนิยมอนาธิปไตย ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับฝั่งที่คิดว่ารัฐบาลคือเครื่องมือที่จะใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
มนุษย์เริ่มต้นอยู่ในสภาวะธรรมชาติ (หรือกฎแห่งธรรมชาติ) อะไรคือเหตุผลที่เราต้องเชื่อว่า การควบรวมอำนาจไปไว้ที่ ‘รัฐบาล’ จะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้ดีกว่าการที่พวกเราจะร่วมสร้างองค์กรที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า? แต่เราจะเก็บเรื่องนี้ไว้พูดคุยกันภายหลังในหัวข้อของ อนาธิปไตย ในช่วยยุค 90...
สำหรับหัวข้อวันนี้, เราจะพูดคุยเกี่ยวกับนักปรัชญาผู้อยู่ตรงกลางระหว่าง จอร์น รอว์ และเหล่าผู้นิยมอนาธิปไตย เขามีชื่อว่า โรเบิร์ต โนซิก (Robert Nozick) และหนังสือของเขาที่เราจะนำมาพูดคุยในวันนี้มีชื่อว่า อนาธิปไตย, รัฐ และยูโทเปีย (Anarchy, State and Utopia) เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อน, ชื่อหนังสือ อนาธิปไตย, รัฐ และยูโทเปียนั้นมาจากสามส่วนใหญ่ๆ ภายในเล่ม โดยส่วนแรก – อนาธิปไตย โนซิกใช้เวลาพอตัวในการพยายามเข้าใจความเกลียดชังของพวกอนาธิปไตยนิยมที่มีต่อรัฐบาล แต่ก็ยังคิดว่าสรุปว่าเป็นแนวคิดที่สุดโต่งเกินไป ในส่วนกลางของหนังสือ – รัฐ โนซิกได้อธิบายถึงรัฐที่เขาคิดว่าดีที่สุด และยูโทเปีย คือส่วนอธิบายถึงเหตุผลของเขาที่ว่ารัฐดังกล่าวเป็นรัฐที่ดีที่สุด โนซิกคิดว่า ยูโทเปียเป็นเรื่องตลก โดยเขาไม่ได้คิดว่าระบบของเขาเป็นยูโทเปีย แต่สำหรับเขาแล้วมันเป็นระบบที่ดีกว่าระบบอื่นๆ ที่เคยถูกลองมาแล้ว และเขาจะมาโต้แย้งว่าทำไมจึงคิดเช่นนั้น
เห็นมั้ย โนซิกไม่ใช่แฟนคลับของแนวคิดรัฐขนาดใหญ่ (Big State) ที่ต้องแบกความรับผิดชอบไว้สูง ,เช่นกัน ,เขาก็ไม่ค่อยถูกใจคำว่า ‘ไม่มีรัฐเลย’ แล้วเขาชอบรัฐแบบไหนล่ะ? รัฐความจะมีอำนาจขนาดไหน และรัฐควรทำหน้าที่อะไรบ้าง? โนซิกชอบรัฐที่เรียกว่า ‘รัฐเล็ก’ (Minimal State) วิธีการเข้าใจความหมายของรัฐนี้ เราคงจะต้องเปรียบเทียบงานของเขากับงานของ รอว์ และพวกนิยมอนาธิปไตย ในช่วงเวลาเดียวกันกับโนซิก และเพื่อที่เราจะเข้าใจแนวคิดของ โนซิก เรามาเริ่มด้วยการวิจารณ์ทั่วไปถึงรอว์ และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งมันจะนำพาเราให้เข้าใจการวิจารณ์เกี่ยวกับรอว์โดย โนซิกเอง
สิ่งแรกที่คนมักจะเห็นเป็นปัญหาของ รอว์ ก็คือวิธีการใช้กฎ Maximin. คำว่า ‘Maximin’ ถ้าคุณยังจำกันได้ มันคือการผสมผสานระหว่าง maximum และ minimum รอว์อธิบายไว้ว่า ผู้ที่มีเหตุผล (rational agents หมายถึง ผู้ที่มี หรือสามารถใช้เหตุเป็นเครื่องมือในการหาข้อสรุปได้ ซึ่ง agent ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงแค่มนุษย์ แต่อาจจะหมายถึง สิ่งใดก็ที่มีสมรรถนะในการเข้าถึงเหตุผล หรือ rational) เมื่อเลือกโครงสร้างสังคม คงเลือกตัวเลือกที่มอบสิ่งที่มากที่สุดแก่สิ่งที่น้อยที่สุดได้ (choosing the structure of society would reliably choose the option that provided the maximum for the minimum)
หรือคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด (the best case scenario) แก่คนที่ได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุดในสังคม ทว่าใครบางคนอาจจะตอบกลับมาว่า “ใช่! มันฟังดูเยี่ยมมาก” แต่เมื่อเราลองมองกลับไปยังผลการศึกษา และสิ่งที่มนุษย์ต้องการจากรัฐมากที่สุด พวกเขาไม่ได้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุด พวกเขาต้องการสวัสดิการพื้นฐานที่การัณตีคุณภาพชีวิตไว้ได้ และมากไปกว่านี้ พวกเขาอยากให้รัฐบาลเลิกยุ่งวุ่นวายกับชีวิต และปล่อยให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตของตนเอง
ผู้คนไม่ต้องการรัฐมาคอยบอกว่า พวกเขาควรทำอะไร ควรใส่ใจกับสิ่งไหน หรือพวกเขาควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร และยิ่งรัฐบาลมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็สั่งคำสั่งมากขึ้น พวกเราจะลงลึกมากขึ้นไปอีกในตอนข้างหน้า แต่ตอนนี้เอาเพียงตัวอย่างแรกที่ว่า หนึ่งในข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักที่ผู้คนมีก็คือ รอว์ต้องการทำลายระบบตลาด และแทนที่ด้วยระบบปันส่วนที่คอยจัดสรรปันส่วนผลผลิตของสังคม ซึ่งทำให้ผู้คนคิดว่า กฎ maximin ไม่ใช่อย่างที่ รอว์เสนอว่า “ผู้ที่มีเหตุผลจะเลือกในตำแหน่งแรกเริ่ม” และบางที รอว์อาจจะต้องให้กฎ maximin สำหรับส่วนอื่นๆ ในทฤษฎีของเขาเพื่อให้มันใช้งานได้ และแท้จริงแล้ว เราคงจะได้เห็นตัวเลือกมากมายที่ผู้ที่มีเหตุผลเลือกในขณะที่กำลังสร้างโครงสร้างสังคม
อีกข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เห็นได้ทั่วไปเกี่ยวกับ รอว์ เขาพูดเกี่ยวกับผู้คนในสภาวะแรกเริ่มที่พยายามสร้างสังคมขึ้นผ่าน ‘ม่านแห่งความไม่รู้’ (Veil of ignorance เป็นทฤษฎีสังคมศาสตร์ของ รอว์โดยพิจารณาถึงสภาวะแรกเริ่มของมนุษย์ โดยที่พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเลยทั้ง เงินทอง อำนาจ และพละกำลัง จากนั้นให้ผู้คนเหล่านั้นตัดสินใจเลือกสร้างกฎขึ้นมา รอว์คือว่ากฎอันนั้นจะเป็นกฎที่ยุติธรรม และเท่าเทียมที่สุด) ว่าผู้คนจะสร้างสังคมขึ้นมาอย่างไรหากไม่มีใครรู้อายุ เพศ เผ่าพันธุ์ รายได้ ครอบครัว ระดับของความรู้ ฯลฯ ของตนเอง และนั้นจะมีผู้คนตอบกลับมาว่าเช่นเดิมว่า “โอ้! มันฟังดูยอดเยี่ยมมาก” แต่นั้นไม่ถือเป็นการเอาทุกอย่างที่ระบุความเป็นมนุษย์ออกไปเลยอย่างนั้นเหรอ? ส่วนต่างๆ ที่ระบุถึงตัวตนเรานั้นสำคัญ! มันคือส่วนประกอบที่กอปรให้เราเป็นมนุษย์ และสถาบันการเมืองควรถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาของมนุษย์ ไม่ใช่พวกไร้ชื่อ ไร้หน้าที่ ผู้มีเหตุผล ของรอว์ที่ไม่มีส่วนไหนคล้ายกับมนุษย์ทั้งสิ้น
แต่ ประเด็นใหญ่ของทั้งสองความคิดที่ดูจะไม่เข้าขากันเลยระหว่างโนซิก และรอว์ กลับเห็นตรงกัน โนซิกเขียนเปิดหนังสือ อนาธิปไตย, รัฐ และยูโทเปียด้วยประโยคเด็ดที่ว่า “ปัจเจกทุกคนมีสิทธิ์และมันคือสิ่งที่ไม่มีใคร หรือกลุ่มใดทำอะไรได้”
โนซิกอยากจะขับเน้นสิทธิอันชอบธรรมในฐานะพลเมือง และเหตุผลที่เขาจงใจใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เพราะว่า เขาไม่ต้องการเดินซ้ำรอยเดียวกับที่รอว์พลาด รอว์เน้นย้ำเหลือเกินในงานของเขาเกี่ยวกับความ ‘เท่าเทียม’ ความยุติธรรมคือความเท่าเทียมสำหรับรอว์ เมื่อคุณเกิดขึ้นมาบนที่ดินราคาพันล้านดอลล่า... คุณไม่สมควรได้รับเงินพันล้านดอลล่านั้นมากไปกว่าคุณได้รับผลกระทบจากโชคร้ายของใครบางคนที่ตกลงมาตรงหน้ารถคุณ ผลลัพธ์ของทั้งสองเหตุการณ์เป็นความบังเอิญ (morally arbitrary) แต่โนซิกจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐเลย... เพราะรอว์กำลังตั้งคำถามผิด รัฐไม่ได้มีหน้าที่กำหนดว่าใครควรได้อะไร หรือสิ่งใดคือความเท่าเทียม แต่หน้าที่ของรัฐคือกำหนดสิทธิ์ที่พวกเขาพึงจะมี และพลักดันสิ่งเหล่านั้น
สมมติว่าคุณยาย บีอาร์ทริซ คุณเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้า และสมมติต่ออีกว่าในช่วงห้าปีสุดท้ายของเธอได้รับการดูแลอย่างดีจากลูกสาวของเธอ คุณยาย บิอาร์ทริซ พยายามจะยกสมบัติทุกอย่างให้กับลูกสาวของเธอ แต่ดันทำผิดตามข้อกำหนดของกฎหมาย และด้วยเหตุบังเอิญนี้ทำให้สมบัติของเธอตกไปอยู่กับลูกชายที่เกลียดคุณยาย บีอาร์ทริซ และไม่ได้พูดกับเธอเลยเป็นปี หน้าที่ของรัฐไม่ได้เหมือนตอนหนึ่งตอนในรายการ Judge Judy (รายการเรียลลิตี้หนึ่งในอเมริกา) ที่พวกเขาจะไปนั่งในศาลและรุมประณามลูกชายของคุณยาย บิอาร์ทริช ที่ไม่เข้าไปดูแลเธอเลย หน้าที่ของรัฐไม่ใช่ไปบอกเขาว่าอะไรคือความเท่าเทียม หรือเขาไม่สมควรได้รับมรดก หน้าที่ของรัฐคือกำหนดว่าเขามีสิทธิในอะไร จากนั้นก็ทำให้แน่ใจว่าเขาจะได้รับในสิ่งที่เขาสมควรจะได้ รัฐควรจะสนใจในเรื่องของสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น
โนซิกคิดว่ามันมีสิทธิอันชอบธรรมอยู่ที่มนุษย์ทุกคนตกลงร่วมกันไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสภาวะธรรมชาติ หรือในสังคมที่เฟื่องฟูที่สุดในโลก เขานิยามคุณค่าที่เป็นพื้นฐานแห่งจริยธรรมการยับยั้งชั่งใจ (moral side-constraints) กล่าวให้ง่ายขึ้น พวกเขาตั้งค่าพารามิเตอร์สำหรับวัดว่า เราสามารถปฏิบัติกับคนๆ หนึ่งได้มากแค่ไหนโดยไม่ลิดรอนสิทธิที่คนๆ นั้นมี หนึ่งในเรื่องที่สำคัญมากสำหรับโนซิกคือ ไม่มีใครควรถูกทำร้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคนๆ นั้น ฟังดูสมเหตุสมผลดี แต่ถ้าเราพิจารณาจริยธรรมการยับยั้งชั่งใจดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สิทธิ์ของคนอย่างจริงจังที่สุด มันก็จะพาโนซิกไปเผชิญกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยกับงานของ รอว์ และนักอนาธิปไตย
เรามาเริ่มกันด้วยปัญหาที่มันไปปะทะกับงานของนักอนาธิปไตย ซึ่งมันได้มีเขียนอธิบายในส่วนของอนาธิปไตย ในหนังสือของโนซิก ถ้าเกิดเรามีข้อตกลงร่วมกันแล้วว่า ไม่มีมนุษย์คนใดปรารถนาที่จะถูกทำร้ายโดยที่เขาไม่ต้องการ โนซิกจึงบอกว่า เมื่อเราพิจารณาถึงภัยตรายจากศัตรู หรือธรรมชาติในสภาวะธรรมชาติ และคุณจินตนาการว่ามนุษย์จะมีพฤติกรรมอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น สิ่งที่จะปรากฏขึ้นมาเป็นธรรมดาก็คือ บริการพิเศษที่จะคอยปกป้องผู้คนจากใครก็ตามที่จะมาทำร้ายพวกเขา เป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่คุณจะยอมจ่ายค่าบริการ และจากนั้นคุณก็จะได้รับบอดี้การ์ดส่วนตัวที่คอยเฝ้าระวังว่าจะไม่มีใครมาทำร้ายคุณ ครอบครัวคุณ หรือขโมยสมบัติของคุณไป แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะมีบอดี๊การ์ดส่วนตัว ฉะนั้นบอดี๊การ์ดเหล่านั้นจึงจำต้องรับจ้างลูกค้าหลายคน บางทีก็เป็นคนทีใกล้ชิดกัน
จากนั้น โนซิกกล่าวว่า ปัญหาใหม่ก็ผุดขึ้นมา และเรื่องทั้งหมดกลายเป็นปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน เมื่อคุณมีบอร์ดี๊การ์ดที่คอยแข่งขันกันเป็นร้อย เป็นพันกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดพยายามจะบังคับกฎเกณฑ์ที่นายจ้างของพวกเขาว่าจ้างมา มันไม่มีการจัดกฎระเบียบใดๆ ที่พวกบอร์ดี๊การ์ดใช้ร่วมกัน มันคงจะกลายเป็นฝันร้ายสำหรับพวกบอร์ดี๊การ์ดเหล่านี้แน่ๆ ที่จะต้องคอยนั่งคิดในตอนทำงานว่า ใครเป็นลูกค้าของพวกเขา และใครบ้างไม่ใช่ กฎไหนบ้างที่พวกเขาถูกจ้างมาให้ต้องทำสำหรับวันนี้ และวันพรุ่งนี้ กฎไหนมันสอดคล้องกับลูกค้าคนไหน จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นจากความประสงค์ของลูกค้าสองคนที่ต่างกัน ยังไม่ต้องกล่าวเลยว่า จะเกิดอะไรเมื่อ -- เพื่อจะหยุดข้อพิพาท บอร์ดี๊การ์ดของคนสองคนจะต้องสู้กัน แน่นอน จะต้องมีสักฝั่งที่ชนะ ส่วนคนของฝั่งที่แพ้ดูเหมือนจะต้องการการปกป้องจากบอร์ดี๊การ์ดคนใหม่โดยทันที
มันฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระมากสำหรับโนซิกที่ต้องมาเสียเวลาคิด แต่ข้อโต้แย้งที่เขาพยายามสร้างขึ้นนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดย ‘ปกติ’ (Naturally) ในสภาวะธรรมชาติ ที่มาเฟีย (local monopoly) มีอำนาจมากกว่าบริการของภูมิภาค หรือกล่าวอีกอย่าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแบบปกติเลยคือ รัฐพื้นฐานที่จะช่วยให้ผู้คนจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานและการบังคับใช้สัญญา นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่เขาคิดว่าพวกนิยมอนาธิปไตยยึดมั่นในความเกลียดชังของตนเองที่มีต่อรัฐบาลรุนแรงเกินไป เพราะแม้จะไม่มีรูปแบบรัฐที่เป็นทางการ... มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการผูกขาดอำนาจความคุ้มครองซึ่งไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างอะไร
รูปแบบของรัฐที่เล็กที่สุด เป็นรูปแบบที่มอบความคุ้มครอบพื้นฐานให้แก่ผู้คน และสร้างความมั่นใจด้วยว่าจะมีการบังคับร่างสัญญา: นี่มันคือเรื่องเบื้องต้น ก่อนบทสนทนาเรื่องหน้าที่ของรัฐจะดำเนินต่อไป ดังนั้นถ้าเกิดคุณมีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับเรื่องสนุกๆ หรือการออกแบบบริการที่คุณคิดว่ามันคือหน้าที่ของรัฐที่จะต้องมอบให้ประชาชน คุณจะต้องเริ่มจากการโน้มน้าว โนซิก ถ้าคุณอยากจะริเริ่มว่า รัฐนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะจัดสรรงานบริการพวกนั้น เพราะว่าไม่ใช่แค่ว่ารัฐบาลจะทำมันได้ดี เพราะมันมีการผูกขาดอำนาจของการบริการเอาไว้ และมันยังอาจไร้ประสิทธิภาพอย่างน่าอาย ทว่าสำหรับโนซิกแล้ว นั้นยังไม่ใช่สิ่งที่รัฐควรปฏิบัติ ยิ่งเราขอให้รัฐบาลทำงานมากเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งขอเงินมากขึ้นอีกจากเราเพื่อดำเนินการตามแผนอย่างไร้ประสิทธิภาพ ทำไมต้องเป็นงานของรัฐบาลที่ต้องคอยบอกผู้คนว่าควรจะใช้ชีวิตอย่างไรนอกจากทำตามกฎหมาย? โนซิกคิดว่า พวกเราต้องพิจารณาคำตอบของคำถามนี้อย่างจริงจัง และระมัดระวังการว่าจ้างให้รัฐมาช่วยแก้ไขปัญหา เพราะว่ายิ่งเรามอบอำนาจส่วนกลางให้รัฐมากขึ้น งานให้ทำมากขึ้น มันจะต้องมีผลที่ตามมาอย่างแน่นอน
ที่มา: https://www.azquotes.com/author/10919-Robert_Nozick
ชัดเจนเลยว่านี้เป็นความขัดแย้งทางมุมมองระหว่างรอว์ และโนซิก เพราะว่าโนซิกคิด เมื่อใดก็ตามคุณเห็นด้วยตรงกันกับรัฐว่า ควรจะจัดสรรความรุ่มรวยของคนกลุ่มหนึ่งไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่ง คุณกำลังฝ่าฝืนจริยธรรมการยับยั้งช่างใจ (moral side constraint; เขานิยามลักษณะที่มีร่วมกันของปัจเจกบุคคล (สากล หรือแค่ส่วนใหญ่?) – ลักษณะเช่น การใช้เหตุผล, เจตจำนงเสรี, และสิ่งที่มีคุณธรรม – จากนั้นโต้แย้งว่า ด้วยการผสมผสานของคุณลักษณะทั้งหมด ผนวกด้วยสิ่งที่มีความสำคัญมาก: การที่สามารถวางแบบแผนระยะยาวสำหรับชีวิต เสริมโดยผู้เขียน – การยับยั้งชั่งใจดังกล่าว เป็นคุณธรรมที่ซึ่งมนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันเพื่อไม่ให้ใครสามารถทำร้ายใครอีกคนได้ เช่นกัน มันไม่ใช่สิ่งที่พึ่งปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์อีกด้วย เพราะตามที่โนซิกระบุไว้ในโน้ต (p. 45) ว่าสัตว์เองก็มีความแต่ต่างในหมู่ของพวกมันเหมือนมนุษย์ ไมว่จะด้วยเรื่องประสบการณ์ หรือการใช้ชีวิต[1]) คุณกำลังทำร้ายคนอื่นที่ไม่ยินยอมจะถูกทำร้าย. ให้ผมได้อธิบายความหมายเพิ่มขึ้นเถอะ
โนซิกเข้าใจทัศนะคติของรอว์จากจุดนี้... เขาเข้าใจ แนวคิดคือ เมื่อคุณเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มๆ หนึ่ง แล้วคุณก็ได้รับผมประโยชน์จากกลุ่มนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นคุณจึงตกเป็นหนี้กับกลุ่มๆ นั้น และคุณจึงมีภาระที่จะต้องเสียค่าภาษีที่สูงขึ้น
โนซิกจึงแสดงตัวอย่างแย้งใน อนาธิปไตย, รัฐ และยูโทเปีย -- จะค่อนข้างถอดความมาหน่อยนะครับ -- เขาจะพูดประมาณ ให้คุณลองจินตนาการว่า วันหนึ่ง คุณอยู่ที่บ้าน คุณกำลังทำความสะอาดบ้านคุณอยู่ มันเป็นวันที่อากาศข้างนอกดีมาก คุณเลยเปิดหน้าต่าง และตรงถนน คุณก็ได้ยินเพื่อนข้างบ้านกำลังฝึกเล่นดนตรีอยู่ในโรงรถไม่ห่างไปไกลมาก คุณเลยตัดสินใจว่าจะดื่มน้ำมะนาวบนโซฟา และพักฟังเพลงสักครู่หนึ่ง จากนั้นลองจินตนาการวันต่อไปว่า มีคนตรงมาเคาะประตูบ้านคุณ และมาเรียกร้องเอาเงินจากคุณเพราะคุณไปนั่งฟังเพลงของพวกเขา คุณคิดว่าคุณติดเงินคนพวกนี้จากการไปนั่งฟังเพลงพวกเขาหรือเปล่า? แน่นอนไม่! โนซิกบอกว่า ทางเดียวที่คุณจะต้องจ่ายเงินพวกเขานั้น คือคุณยินยอมที่จะจ่ายเงินค่าเล่นดนตรีของพวกเขา ‘ก่อน’ ที่พวกเขาจะเริ่มเล่น
การบังคับใครสักคนให้จ่ายเงินเข้าสู่ระบบที่ภายหลังจะเอาไปจัดสรรเป็นรายรับสำหรับใดๆ ก็แล้วแต่ที่มันต้องการ โดยไม่สนใจความยินยอมของผู้คนเลยว่าต้องพลักดันสิ่งๆ นั้นหรือไม่ สำหรับโนซิกแล้ว มันคือการฉ้อโกงที่ใช้วิธีบีบบังคับแรงงานพลเมืองของคุณอย่างลับๆ สำหรับใครที่เสียภาษี 40% ของรายได้ทั้งหมด คุณกำลังขอให้พวกเขาไปทำงานทุกวัน และสร้างผลผลิตให้กับรัฐถึง 40% ของเวลาทั้งหมดนั้น เกือบจะสามครึ่งต่อแปดชั่วโมงแห่งเวลาทำงานที่พวกเขาไม่ได้เอาไปพัฒนาชีวิตเลย พวกเขากำลังเอาเงินไปช่วยสมทบกองทุนของรัฐบาลเพื่อใช้สำหรับวิสัยทัศน์อะไรก็ไม่รู้ ที่วันนี้พึ่งคิดมาเพื่อสังคม เป็นความจริงที่ว่าเงินเหล่านี้อาจจะไปเข้าไปจุนเจือผู้ที่ต้องการมันจริงๆ แต่มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย สำหรับโนซิก เพราะถ้าคุณเอาใจใส่สิทธิของผู้คนจริงๆ และไม่ทำร้ายพวกเขาโดยพวกเขาไม่ยินยอม ฉะนั้นคุณตระหนักว่า การกระทำสิ่งที่ผิดมันไม่เคยโอเค เพียงเพราะคุณคิดว่ามันจะนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี
สำหรับโนซิกแล้ว คุณไม่สามารถ จู่ๆ ก็เพิกเฉยสิทธิของคนๆ ได้ เพียงเพราะคุณคิดว่าเมื่อทำดังนั้นแล้วจะทำให้อีกหลายชีวิตดีขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเลยกับประเพณีแห่งปรัชญาการเมืองที่มีศูนย์กลางเป็นประโยชน์นิยม
เพื่อที่จะให้เห็นภาพมากขึ้น โนซิกให้หนึ่งในตัวอย่างที่โด่งดังจากหนังสือของเขา ลองจินตนาการอีกครั้งว่า ถ้าเกิดคุณเป็นทาสที่อยู่ภายใต้อาณัติของนายทาสผู้โหดร้าย ที่ทารุณ และปฏิบัติต่อคุณไม่ต่างจากเศษดิน ซึ่งพวกเราคงตกลงร่วมกันได้ว่า ไม่มีใครสมควรถูกกระทำเยี่ยงนี้ และพวกเราก็คงจะพ้องใจว่า ทาสไม่ใช่อิสระชน กระนั้นโนซิกก็ให้เราลองจินตนาการอีกเหตุการณ์นึงว่า คุณก็ยังคงเป็นทาสอีกต่อไปนั้นแหละ แต่นายทาสของคุณไม่ได้กลั่นแกล้งคุณแล้ว กระนั้นคุณยังคงต้องทำงานหลายชั่วโมง แต่คุณได้รับอนุญาตให้มีครอบครัว และมีบ้านเล็กๆ ให้ซุกหัวนอน นั้นจะเป็นวิธีที่สมควรจะปฏิบัติต่อใครคนหนึ่งหรือเปล่า? เราจะสามารถมองว่า นั้นคืออิสระชนได้หรือไม่? ไม่ ไม่ใช่เลย งั้นถ้าเกิดว่า คุณยังคงเป็นทาส ทว่านายทาสไม่ได้เรียกร้องให้คุณทำงานมากขนาดนั้น? คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่เองได้ตามท้องนาชนบท เลี้ยงลูก ไปจ่ายตลาดและซื้อจิปาถะ กระนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ คุณก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของนายทาส พวกเราก็ยังคงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันยังคงผิด บุคคลนี้ยังคงถูกเป็นเจ้าของโดยคนอื่น พวกเขาไม่ใช่อิสระชนไม่ว่าจะในความหมายใด โนซิกพาตัวอย่างนี้ย้อนไปยังโลกยุคใหม่ภายใต้รัฐบาลที่คอยเก็บเกี่ยวภาษี และจัดสรรปันส่วน และวัฒนธรรมเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ที่คอยบอกว่างานประเภทไหนที่คุณควรจะทำ อะไรก็ตามที่เรียกภาษีจากคุณจะได้นำไปใช้งาน คุณต้องทำงานหนักแค่ไหน คุณสามารถไปเที่ยวพักต่างอากาศได้กี่ครั้ง คุณจะซื้ออะไร คำถามของโนซิกมีอยู่ว่า เมื่อคุณต้องอาศัยอยู่ในสังคม โดยที่รัฐมีภารกิจมากมายโดยพุ่งเป้าไปยังผลลัพธ์ที่แน่นอนสำหรับประชาชนของเขา เราจะยังเป็นเจ้าของตัวเราเองอยู่หรือไม่? ในขณะที่อำนาจของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น แล้วความสามารถที่จะเป็นอิสระของเราจะลดลงไปตามอัตราส่วนหรือไม่? คำถามที่โนซิกต้องการคำตอบคือ มีจุดไหนของตัวอย่างบ้าง ที่ทาสได้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของตัวเอง?
นี่เป็นเหตุผลที่โนซิกสนับสนุน รัฐเล็ก รอว์เองมีความตั้งใจสูงมากกับงานของเขา แต่ปัญหาใหญ่เลยในสำหรับโนซิกคือ เขาพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่เขาเรียกว่ารูปแบบการแจกจ่ายผลผลิตของสังคม หลักการก็คือ การแจกจ่ายผลิตผลจะต้องดำเนินไปตามรูปแบบที่เราตัดสินใจแล้วว่ามันดีอยู่แล้ว นักปรัชญาในเวลานี้ส่วนใหญ่เรียกหารูปแบบการปันส่วน เพียงพวกเขาพยายามหนีจากระบบตลาด เพราะพวกเขาพยายามหนีออกจากความไม่เท่าเทียมที่มักจะเกิดขึ้นในระบบตลาด แต่โนซิกคิดว่า การพุ่งเป้าไปยัง ‘ความเท่าเทียม’ อย่างทั่วถึง หรือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง นั้นผิดในหลายๆ ระดับ แม้จะเป็นอย่างนั้น ลองดูว่า คุณมีแบบแผนการแจกจ่ายที่คุณต้องการ ‘อย่างเท่าเทียม’ ดังในตัวอย่าง แล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ได้บรรลุเป้าประสงค์แล้วละ? อย่าง ถ้ามีใครบางคนขายบางอย่าง หรือให้ของขวัญกับใครบางคน หรือใครสักคนเกิดป่วยและไม่สามารถไปทำงานได้ ในอีกความหมายคือ มันไม่ได้เท่าเทียมกันโดยทั่วกันแล้วน่ะสิ และสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นคือ รัฐบาลต้องก้าวเข้าไปและฟื้นฟูความสมดุลของรูปแบบอีกครั้ง สิ่งที่คุณเสนอขึ้นมา สำหรับโนซิกแล้ว มันคืออนันตกาลแห่งการบีบบังคับของรัฐบาลที่พวกเขาจะคอยเยื้องย่างนิ้วมือเข้ามาในชีวิตคุณ คอยสร้างผลลัพธ์อันแน่นอน และพลเมืองตัวอย่าง
สำหรับโนซิก ยิ่งรัฐมีขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ประโยชน์นิยมก็เริ่มเคลื้อยคลานเข้ามา ยิ่งพวกเราเพิกเฉยต่อสิทธิของคนส่วนน้อยภายใต้ความเชื่อที่ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อประชากรส่วนมาก แต่โนซิกอยากจะแสดงความเคารพต่อสิทธิของผู้คนในระดับที่นักปรัชญาการเมืองส่วนใหญ่ไม่ปรารถนากัน นี่คือเหตุผลทำไมโนซิกถึงคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องอันใดของรัฐบาลที่มาคอยบอกว่า ผู้คนควรได้รับอะไร คำถามที่พวกเขาความถามคือ อะไรเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และผู้คนมีสิทธิในอะไรบ้าง
อย่างเมื่อรอว์อภิปรายเกี่ยวกับ คุณธรรมแห่งโอกาส (moral arbitrariness ซึ่งถ้าอ้างอิงจากรอว์เอง มันหมายถึงคุณธรรมบางอย่างที่คุณต้องสำนึกรู้ไว้ว่าที่คุณประสบความสำเร็จหรือได้รับโอกาสบางอย่างที่มากกว่าคนอื่นนั้น มันเป็นโอกาสที่ถึงแม้มันจะเป็นของคุณ แต่มันก็ยังหมายถึงคุณด้วยต่างหากที่ได้รับคำยินยอมให้ได้โอกาสนั้นโดยสังคม ดังนั้นในทัศนะของรอว์จึงมองว่ามันเป็นเหมือนคุณธรรมบางอย่างที่คุณ -- ผู้ได้รับโอกาสจากสังคม ต้องตอบแทนคืนสู่สังคมด้วย -- ผู้เขียน) ที่เกิดมาบนที่ดินราคาพันล้าน แล้วคุณไม่เอาเงินดังกล่าวไปสู่คนที่ได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุดในสังคม อย่างนั้นเราก็ไม่อาจพิจารณาได้ว่าเงินของคุณเป็นเงินที่ชอบธรรม โนซิกก็จะบอกว่า คำถามเดียวที่รัฐควรจะกังวลคือ คุณได้เงินนั้นมาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่? มันมีหนทางที่จะได้รับเงินนั้นมาอย่างชอบธรรม และมันก็มีหนทางที่เงินนั้นจะถูกโอนมาโดยผู้ถือครองคนก่อนอย่างชอบธรรม ตราบเท่าที่กระทำผ่านสองเกณฑ์นี้ ดังนั้นก็ถือว่าผู้ถือครองเงินนั้นชอบธรรมแล้ว เราต้องเคารพผู้สิทธิของผู้คน และเราต้องเคารพกฎหมาย เมื่อใครก็ตามสามารถหาทางสร้างเงินจำนวนพันล้านได้โดยปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อปกป้องผู้คน โนซิกคงจะกล่าวว่า เราจะบอกได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ยุติธรรม เมื่อทุกๆ ขั้นตอนที่เขากระทำนั้นอยู่ภายใต้กฎหมาย
โนซิกคิดว่าข้อผิดพลาดมหันต์ของรอว์คือ เขาคิดว่าทรัพย์สมบัติของผู้คนคล้ายกับ เมื่อเวลาพวกเขาตาย ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นต้องตกไปสู่แดนชำระบาปที่ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ ก่อนจะเข้าไปสู่มือคนอื่น แต่ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นมีเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างถูกกฎหมาย และมันก็ถูกโอนให้กับคนอื่นอย่างถูกต้อง โนซิกเปรียบเทียบมุมมองที่รอว์มีต่อสังคมกับมุมมองของคนเมื่อถูกโยนลงไปบนเกาะร้างทะเลทราย คุณจะบริหารทรัพยากรอันจำกัดนั้นอย่างไร เมื่อคุณอยู่บนทะเลทรายนั้น? คุณจะเอากระเป๋าเก็บของของคุณออกมา จากนั้นคุณก็แจกจ่ายสิ่งเหล่านั้นอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อ ทอม แฮงค์ไปเจอกับลูกวอลเลย์บอล ก่อนจะละเลงเลือดของเขาไปทั้งลูกและตั้งชื่อให้มันว่า เพื่อนรัก วิลสัน มันไม่มีใครออกมาบอกหรอกว่า เออ, จริงๆ แล้วบอลลูกนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานวิลสันวอลเลย์บอล มันไม่ใช่ของคุณหรอกนะ คุณ ทอม แฮ็งค์ ไม่.... ไม่มีใครพูดอย่างนั้นหรอก
แต่โนซิกคงจะกล่าวว่า: เราไม่ได้อาศัยอยู่บนเกาะริมเกาะร้างทะเลทรายเสียหน่อย นี้ ‘ไม่ใช่’ เราไม่ได้อยู่สถานการณ์ฉุกเฉินด้วย ผู้คนสืบถอดมรดกของเขาเพราะมันมีคุณค่าอย่างมากในสังคมปกติ ลองคิดดูว่า สิ่งที่คุณต้องการในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ว่ามันจะเท่าเทียม หรือสมควรสำหรับพวกเขาหรือไม่ ทว่าเมื่อมาอยู่ในรัฐ พวกเขาควรถามว่าพวกเขามีสิทธิในอะไรบ้าง และถ้าเขาได้มันมาอย่างถูกกฎหมาย เมื่อเส้นทางของมันชอบธรรม เช่นนั้นผลลัพธ์ก็ชอบธรรมเช่นกัน
สำหรับโนซิก ความงามในระบบของเขามันวางไว้อยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า มันไม่มีหรอกไอ้แบบแผนการจัดสรรปันส่วน ที่รัฐคอยการันตีผ่านการบีบบังคับ มันไม่มีผลลัพธ์มากหรอกที่รัฐบาลจะทำนุบำรุงด้วยเงินภาษีจากทุกคน รัฐเล็กนั้นอนุญาตให้มีเสรีภาพ และความเป็นเจ้าของตนเองอย่างที่รัฐใหญ่ทำไม่ได้ เมื่อคุณไม่มีรัฐที่ยุ่ง และเฟื่องฟูในอำนาจ กับการเผด็จการเสียงข้างมากมาบังคับ โนซิกคิดว่ามันจะเหลือพื้นที่สำหรับไลฟ์สไตล์ที่เข้าไม่ได้เลยกับแนวทางรัฐขนาดใหญ่ เพราะในขณะที่แนวทางของรัฐขนาดใหญ่นั้นมีผลลัพธ์ที่ต้องรับประกันนั้น รัฐขนาดเล็กอนุญาตให้คุณทดลองอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ไปก้าวก่ายคนอื่นๆ อย่างภายใต้รัฐขนาดเล็ก ถ้าคุณอยากจะซื้อที่ดิน และรวมตัวกับเพื่อนๆ ก่อนจะเริ่มชุมชนคอมมิวนิสน์ขึ้นเพราะคุณคิดว่ามันคือรูปแบบของสังคมที่คุณต้องการ คุณทำมันได้! คิดว่าพวกเสรินิยมกำลังปู้ยี่ปู้ยำโลก? คิดว่าอนุรักษ์นิยมกำลังทำให้โลกล่มจม? ก็สร้างชุมชนที่ช่างหัวเรื่องพวกนี้ไปสิ และดูว่ามันเป็นอย่างไรสำหรับคุณ
ความงามแบบรัฐขนาดเล็กของ โนซิกนั้น คือการทำให้ทั้งโลกเหมือนห้องทดลอง โดยเราสามารถทดลองอะไรก็ได้ และเรียนรู้จากทั้งความสำเร็จ และล้มเหลวจากกลยุทธ์ต่างๆ นั้น แน่นอน มันยังคงห่างไกลจากคำว่าไร้ที่ติ กระนั้น อย่างน้อยที่สุด มันคือระบบที่เคารพสิทธิของผู้คนมากที่สุด และมันก็พาโนซิกไปสู่คำอ้างอิงของ ไลบ์นิชซ์ (Leibniz) ที่ว่า “โลกที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” จาก เทวยุติธรรมของไลบ์นิชซ์ที่เราเคยพูดถึงกันในรายการ
หนังสือ อนาธิปไตย,รัฐ และยูโทเปีย เสนอข้อโต้แย้งอันแสนโดดเด่นที่น่าพอใจของพวกเสรีนิยม ซึ่งมีแนวทางการแก้ปัญหามากมายเหลือเกินสำหรับปัญหาปรัชญาการเมืองในช่วงศตวรรษที่ 20
ในตอนต่อไปเราจะพูดคุยกันถึงนักปรัชญา เฟร็ดริช ฮายัค (Friedrich Hayek) และมีเรื่องกล่าวกันว่า ในขณะที่โนซิกเสนอข้อเสนอที่ปกป้องเสรีนิยมผ่านมุมมองของสิทธิ ฮายัคเสนอข้อเสนอที่ปกป้องเสรีนิยมผ่านมุมมองการตลอด แต่ทั้งคู่นั้นก็หยิบประเด็นปัญหาแนวความคิดที่ว่าเราควรจะมีแบบแผนให้สังคมที่หน้าตาอย่างไรก่อนหน้านั้น และหลังจากใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับให้มันเกิดขึ้นจริง...
จะเห็นว่ารูปแบบที่โนซิกเสนอนั้นมีความน่าสนใจไม่น้อย ซ้ำยังดูเป็นแบบแผนที่สอดคล้องเสียเหลือเกินในยุคที่พยายามขับเน้นในเรื่องของความแตกต่างในชาติพันธ์ หรือความหลากหลายอันแสนแตกต่าง แต่โดนเด่นของคนแต่ละกลุ่ม
รัฐคืออะไรกันแน่สำหรับเรา? หากเราต้องการรัฐที่สามารถคุ้มครองเราได้ แต่ไม่พยายามมาลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมของเรา ทฤษฎีของโนซิกนั้นก็ดูน่าสนใจไม่น้อย -- หากว่ากันตามตรง
ในช่วงท้ายนี้ ผมอยากจะกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าเราจะศึกษาระบบมามากมายขนาดไหน แต่เราไม่อาจจะหนีจากความจริงได้ว่า เราไม่มีทางทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจริงได้ หากประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานยังไม่เบ่งบานเต็มที่ แน่นอน เรากำลังพูดกันถึงสิทธิอันชอบธรรมมิใช่หรือ? และหากเรายังไม่สามารถมีสิทธิอันชอบธรรมได้จริงๆ ผู้เขียนคิดว่า เราก็ไม่มีทางปลูกระบบใดๆ ที่จะมอบสิทธิเต็มที่ให้พวกเราประชาชนได้เลย
ลองจินตนาการเงินทุกบาทที่คุณต้องเสียกลายเป็นบำเหน็จบำนาญของนักการเมือง หรือทหารบางคน ที่นั่งตุ้ยนุ้ยอยู่อย่างสบายบนเก้าอี้ราคาแพง พร้อมเครื่องประดับหรูหร่า ถกเถียงกันถึงสิทธิเสรีภาพอย่างไม่เหนื่อยปาก และคอยก้นหน้ามาชี้บอกประชาชนว่า พวกเขาควรคิดอย่างไร เพื่อให้ได้เสรีภาพเหล่านั้น เราสามารถเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าเสรีภาพได้หรือไม่?
หวังว่าทุกคนจะรู้สึกอิ่มหนำกับรสชาติอาหารจานด่วนที่ผมนำมาเสิร์ฟ และหวังว่าจะไม่มีใครถูกอุ้มหมาย หรือตั้งหมายจับแปลกๆ อีก
แหล่งอ้างอิง:
F. E. Guerra-Pujol. (2017). What are Nozick’s moral side constraints based on?.
สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2563. จากเว็ปไซต์: https://priorprobability.com/2017/12/11/what-are-nozicks-moral-side-constraints-based-on/
Philosophize This!. Stephen West. (2020). Episode 138 – Robert Nozick – The Minimal State.
สืบค้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563. จากเว็ปไซต์: http://philosophizethis.org/the-minimal-state/?fbclid=IwAR34CFcwZ5C__eRnhkxytaYsfMAfuY6l8Bl2Eu1RvSeGW9dk21EvbeKN_dU
[1] “he first identifies several traits shared by (all or most?) individuals–traits such as rationality, free will, and moral agency–and then argues that, combined, these traits “add up to something whose significance is clear: a being able to formulate long-term plans for its life” อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิจารณ์แนวคิดโนซิกได้เพิ่มเติมที่ F. E. Guerra-Pujol. What are Nozick’s moral side constraints based on?
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
July 03, 2020 at 07:49PM
https://ift.tt/2ZxztPw
บทความแปล: รัฐเล็กแต่แนวคิดไม่เล็กนะครับ โดยโรเบิร์ต โนซิก - ประชาไท
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "บทความแปล: รัฐเล็กแต่แนวคิดไม่เล็กนะครับ โดยโรเบิร์ต โนซิก - ประชาไท"
Post a Comment