ไม่มีอะไรง่าย หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านเข้ามา จากนี้เศรษฐกิจทั่วโลกคงประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน ในการรับมือกับความยากลำบากจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่ประเทศไทยที่พึ่งพาตัวเลขการส่งออก รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักใหญ่ หนทางข้างหน้าจึงมองเห็นแต่ขวากหนามและโจทย์ยาก แถมยังไม่มีข่าวดีที่เป็นสัญญาณบวกมากนัก ทำให้รัฐบาลต้องวางแผนรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ยังไม่นับ “โควิดระลอกสอง” ที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดกับประเทศไทยอีกหรือไม่
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เลือกที่จะเก็บกวาดบ้านตัวเองไปในคราวเดียวกัน พร้อมปล่อย “ขาการเมือง” ให้กับ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาคุมสภาพเต็มตัว จากปัญหาปวดหัวของ “มุ้ง” ที่ผสมพันธุ์กันเป็นพรรคพลังประชารัฐ สร้างโมเดลหนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา
แต่ย่อมหมายถึง “สมการ” เก้าอี้รัฐมนตรีใหม่ต้องแบ่งสรรตาม “โควตา” พรรค ตามคำสัญญาของชายชาติทหารที่เคยสัญญาไว้เมื่อครั้งสู้ศึกสนามเลือกตั้ง ภายใต้ปมสำคัญเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” ของทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาแทนทีม 4 กุมารที่บุกเบิกทำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่เคยเป็นกล่องดวงใจในช่วง คสช.เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
นำร่องด้วยนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง ปรับ ครม.? พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 43.09% ระบุว่าควรปรับ ครม.ทั้งคณะ เพราะการบริหารงานที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ยังไม่มีผลงานให้เห็นเด่นชัด และอยากให้ท่านอื่นลองเข้ามาบริหารบ้าง ผลสำรวจยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับนายอุตตม สาวนายน ออกจากตำแหน่ง รมว.การคลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ออกจากตำแหน่ง รมว.พลังงานด้วย
นำไปสู่การที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตหัวหน้า พปชร., นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน อดีตเลขาธิการพรรค พปชร., นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรค พปชร. และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ อดีตกรรมการบริหารพรรค พปชร. แถลงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค พปชร.อย่างเป็นทางการ
แม้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมองว่าการลาออกของ 4 ยอดกุมาร ไม่ใช่เป็นไปตามโบราณที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” แต่เป็นการปฏิบัติงานเสร็จสิ้นตามเป้าหมายแล้ว แต่สำเนียงการตอบคำถามก็บ่งชี้ว่าวันข้างหน้า “อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด” เพราะการปรับ ครม.อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี
“การที่จะตั้ง ครม. นายกฯ ต้องดูให้ถ่องแท้ว่าใครจะทำอะไร ต้องเอาบ้านเมืองเป็นหลัก นั่นคือสิ่งสำคัญสุด แต่ใครจะมาจะไปเป็นเรื่องปกติ” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระบุ
การจัดทัพ ครม.ใหม่ตาม “โควตา” ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังเจออยู่ ไม่ต่างจาก “เส้นทางเก่า” ที่เรียกว่า “การเมืองน้ำเน่า” ทั้งปรากฏการณ์ “น้ำลายสอ-เคาะกะลา-สร้างราคา” ล้วนแต่เกิดจากนักการเมืองที่ประกอบกันในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ที่ต่างมุ่งหวังกันขึ้นมามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองกันถ้วนหน้า
วาทกรรม “รมต.เต้าหู้ยี้” ที่เกิดขึ้นในช่วง ครม.ประยุทธ์ 2 กลายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก เพราะ “ผู้มีบุญคุณ” ต่างมีแผลติดตัว กลายเป็นตำหนิให้รัฐบาลมัวหมอง และที่สำคัญคนเหล่านั้นไม่เกรงกลัวที่จะแสดงออกใน ”อำนาจ-บารมี” จนถูกมองว่าใช้อิทธิพลสกัดกั้นในการบังคับใช้กฎหมาย
ความอ่อนแอของ “สื่อ” ที่บักโกรกจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำกำลังกระทบต่อปากท้องความเป็นอยู่ของคนในวิชาชีพ ปรากฏการณ์ “ดิสรัปชัน” ที่คนในวงการยัง “สตันท์” และไปไม่เป็นกับนวัตกรรมใหม่ในโลกแห่งดิจิทัล ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการทำงานในโลกยุคใหม่อยู่ไม่น้อย
ยังไม่นับกรณีที่ฝ่ายค้านเลือดใหม่ติดหล่ม “ความนิยม” ที่ตอนแรกเหมือนจะไปด้วยดีกับการตรวจสอบที่เข้มข้น แต่บทพิสูจน์ในการทำงานจากช่วงที่ผ่านมากลับ “เสียของ” เพราะแนวทางของพรรคการเมืองและคณะบุคคลนั้น สลัดไม่หลุดกับการทำงานเชิงหลักการและทฤษฎี
ขณะที่คนฐานรากของสังคมไม่ได้อานิสงส์จากการต่อสู้ หรือการทำงานตรวจสอบผลประโยชน์ของประชาชนเท่าใดนัก เขาอีหรอบ “ใช้เอ็นจีโอและนักวิชาการไปจับโจร”
ส่วนฝ่ายค้านหลักที่เคยอยู่ในสถานะ “ยาใจคนจน” ยังหันรีหันขวาง-ไปไม่เป็น เพราะมัวแต่รอสัญญาณของ “นายใหญ่” ที่ยังไปไม่กลับ และตัวนายใหญ่เองก็รอสัญญาณบวกเพื่อเอาตัวเองรอดอยู่เหมือนกัน
ในเวลาเดียวกัน ปัญหาที่ “ก่อตัว-กดทับ” คนในสังคม โดยเฉพาะคนระดับรากหญ้า กำลังกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ จนสุ่มเสี่ยงที่ “คนจน-คนด้อยโอกาส” จะถูกนำไปผนวกกับกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านโครงสร้างรัฐได้
ดังนั้น “รัฐบาลประยุทธ์” ที่กำลังจัดทัพทีมเศรษฐกิจ จึงน่าจะ “ฟัง” ทุกกลุ่มที่เดือดร้อนให้มาก โดยเฉพาะคนรากหญ้า หลังจากใช้บริการ “นายทุน” มานาน
จึงมีแนวโน้มว่า “โมเดลซ่อมประเทศ” จะไม่มีสูตรสำเร็จ หรือทฤษฎีตายตัวในการแก้ไขปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ แม้กระทั่งการแจกเงินที่มีการโจมตีกันอย่างเมามัน แต่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ทราบดีว่า เป็นมาตรการที่ยกเลิกไม่ได้ เพียงแต่วิธีการและการทำอย่างไรในการสร้างมูลค่า หรือสร้างอาชีพให้กับคนนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ในการบริหารสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจะได้รับคะแนนจากประชาชนกลับมาบ้าง แต่ก็เป็นแค่ด่านแรก อย่างที่กล่าวแล้วว่าด่านต่อไปคือปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วง การจะใช้เหล่าบรรดา “ซาร์-เซียน” เศรษฐกิจ มือดีด้านการเงิน-การคลัง-เศรษฐศาสตร์มหภาค ที่อยู่ในหน้าตักก็ล้วนแต่เป็นการเสี่ยงทาย ไม่มีใครมั่นใจได้ว่าจะนำพาประเทศผ่านพ้นมรสุมลูกนี้ไปรอดหรือไม่
การเรียกประชุมกุนซือทางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่อง “จิตวิทยา” สร้างความหวัง-ทางเลือกใหม่ให้กับสังคม รวมไปถึง “ตัวเลือก” ทีม รมต.เศรษฐกิจ ที่พลเอกประยุทธ์ย้ำเสมอว่า ประเทศไทยล้วนมีแต่ “คนเก่ง” ที่พร้อมทำงาน
“สิ่งที่ผมต้องการคือ ทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นตัวอย่างการบริหารที่ดี ในเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เหมือนกับที่เราเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทั่วโลกยอมรับ ในเรื่องการจัดการด้านสาธารณสุข ผมอยากจะพูดถึงสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาให้ได้โดยเร็ว....
…ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและทั้งประเทศควรจะทำงานในทุกวัน ให้เหมือนกับว่า เราอยู่ในวิกฤติ เราต้องก้าวข้ามเกมการเมือง และลงมือทำงานกันอย่างจริงจัง ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น” พลเอกประยุทธ์กล่าวถึงแนวทาง “ไทยสร้างชาติ” ที่รัฐบาลกำลัง “คิกออฟ”
เป็นแนวทางที่ “เล่นใหญ่” ในเชิงยุทธวิธี แนวโน้มคือการยืนระยะรัฐบาลไปจนครบวาระ หรืออย่างมากที่สุดคือ 2 สมัย เพื่อดันยุทธศาสตร์ชาติ 10 ปีไปให้ไกลที่สุด
แต่เหนืออื่นใดคือการ “คุมสภาพ” ของนักการเมืองที่เป็นองค์ประกอบของรัฐบาลให้อยู่อย่าง “แพ้เป็น-กินแบ่ง” กระจายบทบาท ไม่ ”เหลิง” ไปกับอำนาจ ผลประโยชน์ที่เข้ามา และพร้อมเสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะในที่สุด แม้มือ ส.ส.ในสภาฯ จะถูกต้องในเกม แต่อาจไม่ชอบธรรมหากสถานการณ์เข้าสู่เส้นทางของ “วิกฤติศรัทธา เพราะเมื่อคนเบื่อหน่าย รับไม่ไหว กับ "การเมืองเก่า" ที่ไม่เห็นหัวประชาชน ถึงวันนั้น "รวมไทยสร้างชาติ" อาจกลายเป็นแค่ “นามธรรม” ที่คนในชาติไม่ต้องการสร้างด้วย!!.
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
July 12, 2020 at 12:07AM
https://ift.tt/2ZhAyfm
กู้พรรคก่อน “สร้างชาติ” ภารกิจบนเส้นด้าย "วิกฤติศรัทธา" - ไทยโพสต์
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กู้พรรคก่อน “สร้างชาติ” ภารกิจบนเส้นด้าย "วิกฤติศรัทธา" - ไทยโพสต์"
Post a Comment