หลังชีวิตต้องติดล็อกจาก 'โควิด' วันนี้คนบันเทิงที่เคยมีรายได้จากเวทีการแสดงและสถานประกอบการที่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงได้รับการผ่อนปรนให้เริ่มดำเนินการได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปไม่เพียงต้องปรับตัวหาอาชีพเสริม พวกเขายังรอการเยียวยาจากภาครัฐ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ ‘โควิด-19’ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการปิดกิจการและงดกิจกรรมเสี่ยงหลายประเภท ทำให้หลายอาชีพได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสถานบันเทิง รวมทั้งการแสดงดนตรีและมหรสพ พวกเขาไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ นับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.63 เป็นต้นมา
ย่างก้าวเข้าเดือนที่ 4 คนกลุ่มนี้ยังคงขาดรายได้ ไร้สวัสดิการ ไม่มีหลักประกันทางการเงิน แต่ละคนต้องดิ้นรนดูแลตัวเองและครอบครัว จนถึงวันนี้แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมของโรคระบาดจะเริ่มดีขึ้น แต่ชีวิตของนักร้องนักดนตรีกลางคืนกลับยังไม่เห็นแสงสว่าง
- กำลังใจคนดนตรี
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็ประกาศปลดล็อกภาคธุรกิจให้กลับมาเปิดใหม่ได้ มีการจัดสถานประกอบการเป็นประเภทต่างๆ โดยพิจารณาจาก ‘ความเสี่ยง’ ของสถานประกอบการและพื้นที่ โดย ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย โรงสอนมวย สนามกีฬาในห้องแอร์ จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาเปิดดำเนินการ จนกระทั่งเพิ่งได้รับการปลดล็อกตามมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 ให้เปิด 5 กลุ่มกิจการ/กิจกรรม ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมถึงผับ บาร์ คาราโอเกะ แต่ให้เปิดได้ไม่เกิน 24.00น.
หลายเดือนที่ผ่านมาเหล่าคนดนตรีต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ในงานคอนเสิร์ต ‘เยียวยา กำลังใจ คนดนตรี’ ที่จัดขึ้นก่อนการคลายล็อกเฟส 5 เพียง 2 วัน โดยวงมาลีฮวนน่าและศิลปินอีกกว่า 30 ชีวิต คฑาวุธ ทองไทย (อ.ไข่ มาลีฮวนน่า) ประธานกลุ่มสมาพันธ์เครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทย ได้ให้กำลังใจคนดนตรีด้วยกันว่า
“โครงการ ยิ้มไห้กับฝัน EP2 วัตถุประสงค์ก็คือ เป็นกำลังใจ เยียวยาคนดนตรีด้วยกัน พี่น้องหรือคนในอาชีพบันเทิงเป็นอาชีพแรกที่ถูกล็อกดาวน์ แล้วก็เป็นอาชีพสุดท้ายที่ถูกปลดล็อกดาวน์ ความทุกข์ ความสาหัสไม่ต่างจากพี่น้องคนไทยในประเทศไทยและทั้งโลกทุกสาขาทุกแขนงอาชีพ
พี่น้องนักดนตรีไม่มีเงินเดือนเงินดาวน์ การหยุดงานโดยโควิด-19 เป็นสิ่งที่ต้องหยุดอยู่แล้ว ความลำบากเกิดขึ้นมหาศาลมาก โครงการยิ้่มไห้กับฝันจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องนักดนตรีโดยเฉพาะ มีศิลปินมาร่วมงานกันมากมายกว่า 30 ชีวิต ได้แก่ เอ็ดดี้ วงแผ่นดิน, อ้วน วงประจัญบาน, วงแฮมเมอร์ ไมเคิล ตั๋ง, เฟรนชิฟ AF8, อาท รณชัย, บิว กัลยาณี, วินัย พันธุรักษ์, นกน้อย อุไรพร, เอ๊ะ จิรากร, พั้นช์ วรกาญจน์, ปราโมทย์ วิเลปะนะ, พลพล, เดวิด อินธี, แช่ม แช่มรัมย์, เสือ ธนพล, บ่าววี, ดาจิม แรพไทย, แจ๊ส ชวนชื่น, ดาว ขำมิน, สน เดอะสตาร์”
- ชีวิตติดล็อก
ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์เป็นไปเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค อีกด้าน...ชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องอาศัยการพบปะสังสรรค์ส่งผ่านความสุขสู่ผู้คนด้วยการแสดงก็ต้องปิดตัวลงเช่นกัน นักร้องลูกทุ่ง บิว กัลยาณี บอกเล่าถึงความเครียดในสถานการณ์ที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติว่า ถึงขนาดไม่สามารถอยู่คนเดียวได้
“ตั้งสติอยู่เป็นเดือนเหมือนกันนะคะ ต้องอยู่กับคนอื่น เพราะพออยู่กับตัวเองปุ๊บ เราจะเครียดทันที เพิ่งซื้อบ้าน งานโดนยกเลิกกระทันหันทั้งหมด ที่มัดจำมาก็คือต้องคืน ไม่มีรายได้ เป็นภัยพิบัติทางโรคติดต่อที่เราไม่คิดว่ามันจะมี เราต้องรับมือกับความเครียด ค่อยๆ ฟื้นฟูความรู้สึกตัวเอง พอทำใจได้ก็เริ่มหาอะไรทำ พ่อแม่ขายกะปิ ก็เริ่มโพสต์ขายกะปิ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้เรารู้เลยว่า ความไม่จีรังยั่งยืนของอาชีพนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ได้ข้อคิดว่าเราต้องมีอะไรสำรองไว้ แฟนเพลงอย่าเพิ่งหนีหายกันไปไหนนะคะ ฟังทางโซเชียลไปก่อน ถ้าคิดถึงก็อุดหนุนสินค้ากันนะคะ ทางเฟซบุ๊ค ไอจี ยูทูบ Big Biw มีคลิปให้ชมกันด้วยค่ะ”
อีกหนึ่งคนบันเทิง นกน้อย อุไรพร วงหมอลำเสียงอีสานก็ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพราะต้องดูแลลูกน้องถึง 500 คน และในฐานะ ประธานภาคีเครือข่ายหมอลำ เธอว่าวงการหมอลำปัจจุบันมีอยู่ 30 คณะ ถ้ารวมสมาชิกในวงด้วยเท่ากับคน 6,000 คนกำลังตกงาน
“งานสะดุด ตั้งแต่โควิดเข้ามา ตอนแรกก็ช็อคก่อน แล้วก็ช็อต แล้วก็ตกงานยาว ปกติค่ากินอยู่วันละสามหมื่น ค่าน้ำมันร่วมแสน พองานแสดงไม่มีก็ขายน้ำปลาร้า กาแฟ แจ่ว สบู่ ชักหน้าใส่หลัง จับหลังใส่หน้า ตอนนี้งานต่างๆ ยกเลิกหมด เลื่อนไปปี 64-65 ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะได้แสดงเมื่อไร เหมือนเรามองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เหนื่อยมาก ไม่ได้กระทบเฉพาะแม่นกน้อย ไม่ได้กระทบเฉพาะภาคบันเทิง แต่กระทบทั้งหมดทั้งโลก ...บ่ฮู้ว่าสิเรียกร้องอิหยังค่ะ
อยากให้กระทรวงวัฒนธรรม มองเห็นคำว่า วัฒนธรรม อยากให้มองเราด้วย ถามว่าเฮาสิขยับไปจังได๋ ถ้าสิให้ออกมาเรียกร้อง หรือมากดดัน คงทำไม่ได้ค่ะ เพราะว่าประเทศเฮาบอบช้ำพอแล้ว ถูกโควิดทำร้ายทุกคนก็ช้ำพอแล้วค่ะ ก็ต้องยอมรับชะตากรรมเดียวกันกับทุกๆ ท่าน
ในวงเสียงอีสานของเฮา 400-500 ชีวิต 45 ปีของตำนานเสียงอีสาน 63 ปีของแม่นกน้อยกับการประคับประคองที่จะให้ตำนานหมอลำคงอยู่ หมอลำวงอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ของเรามีบุคลากรหลาย จากที่ปิดมายาว ลูกๆ ก็ไปเก็บเงาะ ไปขึ้นทุเรียน ไปรับจ้างดำนา ทำสวน ทำไร่ ขายของ อย่างนางเอก น้องแป้ง เป็นเหลน ก็เฮ็ดหมูหวานขายหมูแดดเดียว วันนี้มาร่วมงานมาแสดงพลัง มาให้กำลังใจในฝ่ายบันเทิง เราไม่ทิ้งกันมาด้วยใจ ช่วงนี้ก็ขายของอย่างเดียว ยังขยับไม่ได้ ยังไม่มีงานติดต่อเข้ามา ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ๆ ยังไม่มีผู้ใดกล้าจัดงาน ตอนนี้ก็เปิดยูทูบนกน้อยปีกเหล็กออฟฟิศเชียล สามารถติดตามได้ แล้วก็เฟซบุ๊กนกน้อยเสียงอีสานค่ะ”
ไม่ใช่แค่กิจกรรมบันเทิงที่มีสมาชิกร่วมแสดงเป็นจำนวนมากเท่านั้นที่เดือดร้อน แม้แต่ศิลปินเดี่ยวอย่าง พลพล พลกองเส็ง นักร้องค่ายแกรมมี่ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย “ผลกระทบอันดับแรกคือ รายได้จากการแสดง เรารวมตัวไม่ได้ มันจะเกิดการติดเชื้อกัน ซึ่งถ้าเราช่วยเหลือกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เราได้กลับมาขึ้นคอนเสิร์ตมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเร็วขึ้น"
พลพลบอกว่า ระหว่างนี้แต่ละคนก็ต้องหาอาชีพเสริม เพราะรายจ่ายมีทุกวัน ต้องกินต้องใช้ ช่วงที่ผ่านมาเขาทำอาหารขายแบบเดลิเวอรี่ เพราะเป็นคนชอบทำอาหาร "...คิดถึงทุกคนนะครับ คิดถึงเวที คิดถึงการแสดง ไม่ต้องกล่าวถึงประเทศอื่นๆ ที่เขายังควบคุมไม่ได้ ประเทศของเรา ทุกคนช่วยกันดีขนาดนี้คิดว่าอีกไม่นานคงจะได้เจอกัน ดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ สู้ๆ ครับ ติดตามได้ในเพจ พลพล พลกองเส็ง ภาษาอังกฤษ แล้วก็ไอจี เพจขายของ พลพล แล้วก็ รษาสวยอร่อย มีเบเกอรี่ มีอาหาร มียำ มีส้มตำ”
นอกจากนักร้องแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักหน่วงก็คือ 'ตลก' ก่อนหน้านี้คาเฟ่หลายแห่งปิดตัวลงพราะพิษเศรษฐกิจ พอมาเจอสถานการณ์โควิด 19 ระบาด พวกเขาแทบไม่เห็นหนทางที่จะไปต่อ โอบะ เสียงเหน่อ นายกสมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความรู้สึกว่า
“พวกเราคนกลางคืน คนกล่อมโลก ศิลปิน มีผลกระทบอันดับต้นๆ เพราะสังคมเมืองไทยมีการจัดงานกันบ่อย ไม่ว่าในกรุงเทพฯหรือว่าบ้านนอก งานบวช งานแต่ง งานวิก งานวัด งานจัด งานหา ก็ต้องมีเครื่องเสียง การแสดงบนเวที มีความบันเทิง ตลอดระยะเวลาสามเดือนผมได้รับการร้องเรียนจากหมู่มวลสมาชิกศิลปินตลกกว่า 500 คน ถ้าเป็นคณะลงทะเบียนแล้ว 30 กว่าคณะ ที่ยังรับงานตลกอยู่ เมื่อไม่มีการจัดงาน เราก็ไม่มีงาน
เบอร์ใหญ่ๆ อย่าง พี่เท่ง พี่โหน่ง พี่หม่ำ พี่บอล น้าค่อม โรเบิร์ต พ่อโน้ต พ่อเป็ด พ่อเด๋อ พวกนี้เขาอยู่ได้ แต่กับตลกแถวล่าง ไม่มีรายการทีวี ไม่มีหนัง ไม่มีละคร คนหนึ่งคนต้องดูแลครอบครัวทั้งหมด ที่ผ่านมาสมาคมฯได้แจกถุงยังชีพไปแล้วสองครั้ง พวกเรามีผลกระทบมาตั้งแต่สมัยคาเฟ่เคยเปิดถึงตี 3-4 ระยะหลังคาเฟ่ปิดเที่ยงคืน คนกลางคืนได้รับผลกระทบตั้งแต่นั้นมา
อยากฝากถึงผู้บริหารประเทศคณะรัฐมนตรีต่างๆ ว่า ช่วยดูแลพวกเราสักนิดหนึ่งเถอะครับ เขยิบเวลาให้พวกเราสักหน่อย คนกลางคืนในประเทศไทยมีเป็นล้านคน ช่วยเขยิบจากเที่ยงคืนเป็นตีสองตีสาม เราทำงานหากินสุจริต วันนี้เรามาร่วมงานมารวมตัวกันไม่มีแบ่งว่าเป็น ตลก นักร้อง แดนเซอร์ นักดนตรี เพื่อชีวิต ลูกทุ่ง เราทั้งหมดคือกลุ่มสมัชชาศิลปินคนบันเทิงแห่งประเทศไทย มีหน้าที่สร้างรอยยิ้มให้กับประเทศไทย สยามเมืองยิ้ม” ตัวแทนศิลปินตลก ระบายความในใจ
- ปรับตัวเพื่อไปต่อ
ในขณะที่คนบันเทิงหลายๆ คน เลือกชดเชยรายได้ด้วยการหาอาชีพเสริมหรือหันไปประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งก็คงไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด บางคนก็ยังรอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อที่จะทำงานที่รักต่อไป แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการปรับตัวและพร้อมรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งในวันนี้และอนาคต ซึ่งนักร้องสาว พันช์ วรกาญจน์ บอกว่า การประหยัดและเก็บออม คือสิ่งที่เธอทำมาตลอด
“ช่วงนี้ได้รับผลกระทบ งานหายไปเยอะเหมือนกัน รายได้ก็หายไปด้วย ก่อนที่จะประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวงานหายไปพอสมควรแล้ว แต่เราเป็นคนที่โชคดีอย่างหนึ่งคือ ประหยัดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็เลยยังมีเงินเก่าที่เก็บไว้ก็เอามาใช้ได้อยู่ แล้วก็มีทางค่ายช่วยด้วย ตอนนี้ยังไม่ได้ออกมาทำงานเต็มรูปแบบสักเท่าไร มีซิงเกิล ‘เก็บซ่อน’ แล้วกำลังจะมีเพลงประกอบละคร ทางช่อง 3 ช่อง 7 ต้นเดือนหน้าเป็นของช่อง 7 แฟนๆ สามารถติดตามได้ที่ ข้าวสารเอ็นเตอร์เทนเมนท์ แล้วก็ไอจี พันช์ 0509 แล้วก็เฟซบุ๊ค พันช์วรกาญจน์ ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อีกไม่นานได้เจอกันแน่นอนค่ะ”
มองอีกมุมหนึ่ง นกน้อย อุไรพร เห็นว่าสถานการณ์นี้เป็นเรื่องต้องยอมรับ แต่สิ่งที่บั่นทอนคนสร้างสรรค์ผลงานมานานและน่าจะได้รับการแก้ไขก็คือ เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในช่วงเวลาแบบนี้ก็ยังมีการซ้ำเติมกันอีก ดังนั้นหลังโควิดคลี่คลาย เธออาจจะหันไปทำศูนย์การเรียนรู้แทน
“อยากฝากผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์แล้วไปลงช่องตัวเองสร้างรายได้ หากไม่ได้รับอนุญาตก็ขออย่าทำแบบนั้น มันเหมือนเป็นการฉกฉวยโอกาส ผู้ที่สร้างผลงานเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเรา
ชีวิตหลังโควิด ในพลังทางสมองของครอบครัวเสียงอีสาน แม่นกน้อยอุไรพร ก็วางกันไว้ว่า หากเดินต่อ มีปัญหากับองค์กรใหญ่ๆ ก็จะม้วนเสียงอีสานไปที่บ้านตองห้า ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวให้ครบวงจร"
สำหรับงานแสดงหลังจากนี้ เธอบอกว่า การติดต่อจ้างงานสามารถลดขนาดได้ แล้วแต่กำลังศรัทธาของเจ้าภาพ “อยากให้ลดขนาดลงมา เราก็จะจัดให้ ไม่ต้องจองข้ามปีสองปีสามปีเหมือนเมื่อก่อน”
ทุกคนทุกอาชีพล้วนต้องปรับตัว ถึงตอนนี้แม้ว่าจะมีการคลายล็อกให้คนกลางคืน นักร้องนักดนตรี อาชีพอิสระ แต่ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 การช่วยเหลือเกื้อกูลและเรียนรู้อยู่ร่วมบนวิถีความปกติใหม่คือสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับมาตรการเยียวยาที่จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
July 01, 2020 at 11:15AM
https://ift.tt/2CZgxl2
'ปลดล็อก' คนบันเทิง ชีวิตหลังแสงไฟในยุคโควิด! - กรุงเทพธุรกิจ
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'ปลดล็อก' คนบันเทิง ชีวิตหลังแสงไฟในยุคโควิด! - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment