อะไรคือ ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข?
วันที่ 24 ส.ค. 2563 เวลา 15:38 น.
โดย...ไชยันต์ ไชยพร
*******************
ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
แม้ว่าจะมีการกำหนดมาตราที่คล้ายๆกันนี้ในรัฐธรรมนูญไทยหลายฉบับที่ผ่านมา แต่ก็ยากที่จะมีใครบอกได้ว่า ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีเนื้อหาอะไรบ้าง ?
ก่อนหน้านี้ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 มีมาตรา 7 ที่มีข้อความตรงกันว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นความแตกต่างระหว่าง มาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กับมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 นั่นคือ ประเพณีการปกครองใน มาตรา 5 ได้เพิ่มคำว่า “ประเทศไทย” เข้าไป ซึ่งเข้าใจได้ว่า น่าจะต้องการย้ำว่าจะต้องเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ใช่ประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ค, ญี่ปุ่น ฯลฯ
แต่ปัญหาสำคัญคือ ความเข้าใจและการตีความว่า “อะไรคือประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ?” ตามความเข้าใจของสาธารณชน
บทบัญญัติเกี่ยวกับประเพณีการเมืองการปกครองแบบมาตรา 7 เกิดขึ้นครั้งแรกในมาตรา 20 ของธรรมนูญการปกครอง (ชั่วคราว) 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
“ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคก่อนเกิดขึ้นในวงงานของสภา หรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภาวินิจฉัย ให้สภาวินิจฉัยชี้ขาด”
ดังนั้น ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยในมาตรา 20 จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสภาวินิจฉัยชี้ขาด และสภาที่ว่านี้คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาในเวลาเดียวกันตามมาตรา 6 ในธรรมนูญการปกครอง (ชั่วคราว) 2502 แม้ว่าในยุคนั้นเป็นยุคเผด็จการ แต่ก็ยังมีความชัดเจนว่า ใครคือผู้กำหนดว่า อะไรคือประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย
แต่มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2560 และมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดไว้ให้องค์กรสถาบันใดเป็นผู้ให้ความหมายของประเพณีการปกครอง
มาตรา 7 ยังไม่ได้ระบุเงื่อนไข “ประเทศไทย” ถ้าจะตีความโดยอ้างอิงประเพณีการปกครองของประเทศที่ใช้ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน เดนมาร์ก ก็ยังพอจะมีกรอบให้อ้างอิงที่เป็นทั้งที่เป็นสากลและที่เป็นกรณีเฉพาะของแต่ละประเทศ แล้วแต่จะเลือกประเทศไหน แต่ส่วนใหญ่คงเลือกสหราชอาณาจักร เพราะคุ้นเคยร่ำเรียนกันมา เข้าถึงได้ผ่านภาษาอังกฤษ แต่ถ้าจะไปอ้างสวีเดน เดนมาร์ก ก็เหมือนจะยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง
แม้ว่า มาตรา 5 จะย้ำความเป็นไทย แต่ก็อีกนั่นแหละ ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีเนื้อหาอะไรบ้าง ใครเป็นผู้มีความชอบธรรมที่จะวินิจฉัยชี้ขาด บางคนอาจจะบอกว่า สภาผู้แทนราษฎร บางคนบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญ บางคนบอกว่า พระมหากษัตริย์ ใครจะบอกอะไรก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้ระบุให้อำนาจไว้ที่องค์กรไหน ถึงเวลามีปัญหามีวิกฤต ก็คงจะยุ่งยากจนอาจเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตได้
ขณะเดียวกัน สมมุติว่ารัฐธรรมนูญระบุไว้ให้องค์กรหรือตัวบุคคลหรือคณะบุคคลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด แต่ถ้าประชาชนไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เอาด้วยกับความหมายของ “ประเพณีการปกครอง” ที่วินิจฉัยโดยองค์กรหรือตัวบุคคลหรือคณะบุคคล ก็ป่วยการไปชี้ขาด เพราะประชาชนไม่ฟัง
ดังนั้น ต่อปัญหาดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ควรจะได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่อง “ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาอภิปรายสาธารณะให้ประชาชนได้รับรู้ถึงแนวทางการตีความต่างๆ และปัญหาที่แต่ละแนวทางจะต้องพบ เช่น ถ้าตีความแบบนี้จะไปกระทบกับส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญไหม หรือตีความแบบนี้จะกลับมารัดตัวในอนาคตเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ไม่คาดคิดบางอย่างไหม อีกทั้งควรรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย เพราะหากคำตัดสินชี้ขาดว่า “อะไรคือประเพณีการปกครองฯ ในกรณีใดและสถานการณ์ใด” จากคณะบุคคลดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในวงกว้าง ปัญหาก็จะยิ่งกลับทวีมากขึ้นกว่าการไม่มีบทบัญญัติมาตรา ๕ ให้หยิบยกมาใช้เสียเลยตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของมาตรา 5 ในขณะนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเสียเลย เพราะปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการเมืองต่อจากนี้ อาจจะเป็นปัญหาที่เป็นวิกฤตสำคัญที่ยากที่จะเห็นพ้องยอมรับร่วมกันได้ และถ้าหากเป็นวิกฤตร้ายแรง องค์กร บุคคลหรือคณะบุคคลอาจะไม่สามารถเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดที่ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไปในสังคมได้เกี่ยวกับประเพณีการปกครองของไทย
ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้คือ การรับฟังคำแนะนำในเรื่องการใช้ประเพณีการปกครองที่สถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA) ได้กล่าวไว้ นั่นคือ “เงื่อนไขของประเทศที่จะเอื้อให้กับการตีความและปรับใช้กฎประเพณีการปกครองที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ นั้นมักจะไม่ใช่ประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หรือยังอยู่ในช่วงของความพยายามที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เงื่อนไขของประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่มั่นคงนั้น ไม่เหมาะที่จะใช้ประเพณีการปกครองเป็นหลัก” ประเทศที่เพิ่งมีประชาธิป
ไตยหรือประชาธิปไตยไม่มั่นคงเข้มแข็ง “การอ้างอิงกับประเพณีการปกครองในการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ขาดวิจารณญาณ (unwise) อย่างยิ่ง”
อีกทั้งยังประจักษ์ว่า ประเทศที่ประชาธิปไตยไม่มั่นคงเข้มแข็ง แม้ว่าจะมีบางหมวดบางมาตราในรัฐธรรมนูญที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แต่นัยความหมายก็ยังไม่เสถียร ดังจะเห็นได้จากการที่สามารถถูกนำมาใช้ต่อรองเพื่อเพิ่มหรือลดพระราชอำนาจได้ทั้งที่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดอันเดิมเดียวกันนั้น มิพักต้องกล่าวถึงการมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับในเวลา 88 ปี ที่เฉลี่ยอายุฉบับละ 4 ปีกว่า ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เพียงข้อความตามลายลักษณ์อักษรเท่ากับพลวัตรทางการเมืองในการช่วงชิงความหมายที่ดำเนินมาตลอดหลัง พ.ศ. 2475 จนถึง ณ เวลานี้ และยิ่งขณะนี้ก็มีการเรียกร้องให้แก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกหลังจากที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2560 และใช้มาหนึ่งปีหลังเลือกตั้งเท่านั้น
เมื่อพิจารณาจากท่าทีของสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA) ต่อประเพณีการปกครอง จึงดูเหมือนทางออกตามแนวทางนี้จะต้องเป็นการตีความโดยยึดกับหลักการบางข้อที่สามารถถูกอภิปรายร่วมกันและตกลงกันโดยสาธารณะได้หรืออย่างน้อยที่สุดก็โดยคนส่วนใหญ่ของสาธารณะ พร้อมกับเปิดโอกาสให้คนส่วนน้อยได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกฝ่ายที่เป็นผู้ได้เสีย ซึ่งเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะให้เกิดพื้นฐานที่มีความชอบธรรมอย่างแท้จริงไ
(สรุปและปรับปรุงจากหนังสือของผู้เขียนเรื่อง ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระปกเกล้า)

"เป็นต้นฉบับ" - Google News
August 24, 2020 at 03:39PM
https://ift.tt/2YvQzxn
อะไรคือ ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข? - โพสต์ทูเดย์
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "อะไรคือ ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข? - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment