วิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19...เจ็บนานต้องอดทนก้าวผ่านไปให้ได้โดย
วันที่ 31 ส.ค. 2563 เวลา 09:02 น.
คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ
โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย
วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดในปีพ.ศ.2563 ต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เกิดเมื่อยี่สิบกว่าปีครั้งนั้นเป็นผลจากการลดค่าเงินบาทภาคส่วนเศรษฐกิจที่กระทบเป็นลำดับต้นๆคือ ธุรกิจที่กู้เงินนอกเริ่มจากสถาบันการเงินที่กู้เงินตราต่างประเทศดอกเบี้ยต่ำๆมาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงกำไรมากๆ
การให้สินเชื่อแบบง่าย ๆ ทำให้ธุรกิจ-อุตสาหกรรมต่างกู้เงินในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเข้ามาขยายธุรกิจกันเป็นว่าเล่น แค่ข้ามคืนค่าของเงินหายไปครึ่งหนึ่งแบงก์ต่างๆทำท่าไปไม่รอดทำให้ประชาชนแห่กันมาถอนเงินจนที่สุดต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก
สถาบันการเงินใหญ่ๆต้องเปลี่ยนโครงสร้างให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่เกิดในปัจจุบันต่างออกไปจากครั้งนั้นเพราะมีภูมิคุ้มกันจากบทเรียนที่ผ่านมา
โครงสร้างของสถาบันการเงินยังแข็งแกร่งมีเงินสำรองไว้มากพอ ทั้งกรณีจากหนี้เสียทำให้มีความเชื่อมั่นตัวเลขเงินฝากยังสูงทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินสูงแถมการกู้เงินของไทยส่วนใหญ่เป็นเงินบาทรวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์สูงติดลำดับ 12 ของโลกตรงนี้เป็นจุดแข็งของไทย
ที่กล่าวเป็นด้านบวกของเศรษฐกิจไทย แต่ในเศรษฐกิจระดับจุลภาคลงไปจนถึงชาวบ้านรอบนี้ต้องยอมรับว่าหนักหนาสาหัส เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาไปทั้งโลก ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 24.2 ล้านคนผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 8.26 แสนคน
ของไทยต้องยอมรับว่า “ศบค.” (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย) และทีมแพทย์ดีมาก เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จผ่านพ้นจากการแพร่ระบาดติดเป็นอันดับ 4 ของโลก
ที่กล่าวมาเป็นเรื่องหนึ่งแต่ด้านเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับที่สูงมากการฟื้นตัวจึงไม่ได้มาจากการขับเคลื่อนในประเทศตราบใดที่โลกยังไม่สามารถยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก็ยังไม่สามารถเริ่มต้นนับหนึ่งได้
ผลกระทบที่ชัดเจนใกล้ตัวประชาชนคือความไม่แน่นอนของการจ้างงานถึงแม้หลังการคลายล็อกแรงงานที่ตกงานไปก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน ส่วนใหญ่จะสามารถกลับเข้าทำงานแต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ
ภาคท่องเที่ยวกำลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องปิดตัวไปจำนวนมากที่ยังทนอยู่ล้วนขาดสภาพคล่องยกเว้นเงินหนาจริงๆ
ถึงแม้โครงการส่งเสริมท่องเที่ยวภายในประเทศยังมีข้อจำกัดเรื่องวันเดินทางส่วนใหญ่จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาวส่วนวันธรรมดาเงียบ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลัก คือ เงินในกระเป๋าของประชาชนมีจำกัดและยังมีข้อกังวลรายได้ในอนาคต ตลอดจนความเชื่อมั่นในด้านสุขภาพส่วนหนึ่งไม่เที่ยวไกลเพื่อหลีกการขึ้นเครื่องบิน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยรวมไปถึงร้านอาหาร สายการบินต่าง ๆ ยังคงมืดมนเพราะไม่รู้ว่าต่างชาติจะกลับเมื่อใด
ด้านค้าปลีกเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ใกล้ตัวจากข้อมูลของผู้ประกอบการกล่าวว่าถึงแม้เศรษฐกิจของไทยจะคลายล็อกไปหมดแล้วแต่กำลังซื้อไม่เหมือนเดิม สะท้อนจากตัวเลขการบริโภคเอกชนเดือนที่ผ่านมายังชะลอตัวสูงถึง ติดลบร้อยละ 6.6 เงินเฟ้อยังติดลบแม้แต่ของอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นยอดขายก็ยังต่ำทำให้ห้างใหญ่ๆในช่วงนี้ต่างออกแคมเปญปรับกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย
ตัวเลขของอุตสาหกรรมขายปลีกด้านมิถุนายนซึมหนักเพราะหดตัวร้อยละ 9.8 เหตุผลสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเข้าใจ คือ ยังมีคนตกค้างไม่สามารถหางานได้อีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่กลับไปชนบททำให้กำลังซื้อหายไปไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3.6 หมื่นล้านบาท
จำนวนแรงงานที่ถูกลดเงินเดือนแค่จากสถานประกอบการที่มาขึ้นทะเบียนหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 เดือนกรกฎาคมมีถึง 3,985 กิจการเป็นจำนวนแรงงาน 8.026 แสนคนยังไม่รวมแรงงานประกันสังคม (มาตรา 33) จำนวน 9.1 แสนคนซึ่งขอเยียวยาเงินช่วยเหลือการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
ซึ่งโครงการปิดไปแล้วแต่ยังไม่มีการสำรวจว่าแรงงานเหล่านี้ยังมีการจ้างงานหรือเลิกจ้างไปจำนวนมากน้อยเพียงใด ที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่หายไป อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยเดือนละ 3.3 ล้านคนหายไป 100% ทำให้ผู้คนระมัดระวังรัดเข็มขัดการใช้จ่าย
กลับมาดูภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีแรงงานประมาณ 6 ล้านคนหลังการคลายล็อกทำให้ตัวเลขการผลิตเริ่มกลับมาแต่ระดับดัชนีเชื่อมั่นถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
ดัชนีชี้วัดของภาคอุตสาหกรรมคือกำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งตัวเลขการส่งออกในเชิงปริมาณยังหดตัวสูงขณะที่อุตสาหกรรมส่งออก 2 ใน 3 มูลค่าการส่งออกยังหดตัวต่อเนื่องมา 18 เดือนถึงแม้เดือนกรกฎาคมที่กระทรวงพาณิชย์ดีอกดีใจว่าฟื้นแล้วแต่ตัวเลขส่งออกยังหดตัวร้อยละ 11.37
แต่ก็ถือว่ามีสัญญาณที่ดีดัชนีที่แสดงถึงเศรษฐกิจของไทยที่ชัดเจนคือตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรยังหดตัวรุนแรงต่อเนื่องมาอย่างน้อย 4 เดือน เดือนกรกฎาคมหดตัวถึงร้อยละ 25 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนใหม่ระยะสั้นยังไม่มา
ขณะเดียวกันดัชนีนำเข้าวัตถุดิบซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตทั้งเพื่อส่งออกและขายในประเทศหดตัวอย่างน้อย 4 เดือน ช่วงเดือนที่ผ่านมาหดตัวถึงร้อยละ 24 บ่งชี้ว่าการบริโภคและตัวเลขการส่งออกจะยังไม่กลับคืนมา
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อให้เห็นว่าปัญหาของเศรษฐกิจหดตัวได้ยกระดับไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะพิจารณาในแง่จีดีพีที่หดตัวรวมถึงดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจภาคเอกชนล้วนถดถอยสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของความอยู่รอดของธุรกิจต่างๆที่อุ้มแรงงานไว้จำนวนมากทำให้ตลาดแรงงานมีความเสี่ยง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานจะต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์มากกว่าใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการจ้างงานและอัตราการว่างงานซึ่งยังเป็นข้อกังขาว่าสะท้อนความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด การได้ข้อมูลที่เพี้ยนย่อมทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อย่าใช้มาตรการเลื่อนลอยให้ดูตัวอย่างทีมเศรษฐกิจชุดเดิมทำมา 5-6 ปีนำพาเศรษฐกิจมาอยู่ถึงตรงนี้อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเพราะคนที่รับเคราะห์คือประชาชนตลอดจนนายจ้างและแรงงานรวมถึงครอบครัวของเขาทั้งหลาย
ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้หนักหนามากในรอบศตวรรษเป็นโจทย์ยากท้าทายทีมงานเศรษฐกิจที่ต้องเป็นมืออาชีพทำงานเป็นทีมต้องเตรียมกระสุนในรูปของงบประมาณให้เพียงพอเพื่ออัดฉีดทั้งการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานไปพร้อมกัน
การฟื้นตัวอย่าคิดว่าจะจบได้ง่ายๆ ยังอีกยาวไม่น้อยกว่า 2 ปีไม่ใช่เรื่องที่จะฝันหวานเพ้อเจ้อหรือทำงานแบบการเมืองอยู่ไปวันๆ นะครับ
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
August 31, 2020 at 09:03AM
https://ift.tt/34Nga99
วิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19...เจ็บนานต้องอดทนก้าวผ่านไปให้ได้โดย - โพสต์ทูเดย์
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "วิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19...เจ็บนานต้องอดทนก้าวผ่านไปให้ได้โดย - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment