ถึงเป็นเด็กก็ไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์ของผู้ใหญ่ และมีสิทธิจะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี!! วัยรุ่นยุค Gen Z ที่ถูกมองว่าอดทนรออะไรไม่เป็น และเป็นพวกตัวกูของกูบ้าโลกโซเชียล บทจะออกมาแสดงพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม พวกเขาก็ทำเอาผู้ใหญ่ครึ่งค่อนโลกสะดุ้งโหยงจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ เพราะแต่ละอย่างที่เด็กพูดล้วนเป็นเรื่องจริง คุณกล้าดียังไงที่จะไม่ฟังเด็กๆ ในเมื่ออนาคตก็เป็นของพวกเขาด้วยครึ่งหนึ่ง
นักเคลื่อนไหวทางกิจกรรมเพื่อสังคม Gen Z ที่สร้างแรงบันดาลใจมากที่สุดให้เด็กยุคใหม่กล้าออกมาแสดงพลัง ต้องยกให้ เด็กมัธยมชาวสวีเดน “เกรตา ธันเบิร์ก” วัย 17 ปี เธอเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตอนอายุ 15 ปี เมื่อขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 24 (COP24) ที่โปแลนด์ ในปี 2018 โดยสาวน้อยแววตามุ่งมั่นกระตุ้นเตือนทุกคนให้สำรวจตัวเองว่า ผู้ใหญ่กำลังทิ้งภาระให้ลูกหลาน หรือคนรุ่นต่อๆไปอยู่หรือไม่ ทำไมผู้ใหญ่จึงละเลยและไม่ลงมือทำอะไรบางอย่างขณะที่ยังทำได้ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม...“พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริง และทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเราเด็กๆทั้งหลาย หนูไม่สนใจว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ หนูสนแค่เรื่องความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศและโลกที่ยังมีชีวิตอยู่”
ชื่อของ “เกรตา” ถูกจดจำในฐานะตัวแทนเยาวชนนักเคลื่อนไหว ที่กำลังต่อสู้กับวิกฤติโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ ก่อนหน้านั้น เธอเริ่มหยุดเรียนและปักหลัก ประท้วงอยู่หน้ารัฐสภาสวีเดนอย่างเงียบๆ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้เอาจริงกับการแก้ไข ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังระอุขึ้นทุกวัน ไม่นานหลังจากนั้นก็มีนักเรียนจากชุมชนต่างๆมาร่วมถือป้ายประท้วง และร่วมก่อตั้งกลุ่มความเคลื่อนไหว “Fridays for Future” จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะเวิลด์ จุดประกายให้เด็กรุ่นใหม่ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเยาวชนไทย นัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์ ออกเดินขบวนประท้วงรัฐบาลให้ดำเนินนโยบายจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เลวร้ายขึ้นทุกวัน โดยหลายครั้งมีผู้ร่วมอุดมการณ์เป็นล้านคน
เพื่อตอกย้ำความเชื่อที่ว่า คนตัวเล็กๆคนหนึ่งก็สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ “เกรตา” กลายเป็นตัวแทนพลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมอย่างสร้างสรรค์ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นั่งประท้วงเงียบๆอยู่หน้ารัฐสภา พร้อมถือป้าย “หยุดเรียนและประท้วง เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ” เธอได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีและร่วมขบวนประท้วงตามเมืองสำคัญต่างๆทั่วโลก เพื่อเป็นกระบอกเสียงของเยาวชน กระนั้น ด้วยความที่แอนตี้เครื่องบิน เพราะเป็นสาเหตุให้โลกร้อนทวีคูณ เธอจึงเลือกเดินทางด้วยเรือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก “เกรตา” เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง ระหว่างการเข้าร่วมประชุมวาระพิเศษของสหประชาชาติ “2019 UN Climate Action Summit” ที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยสาวน้อยนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมตอกหน้าผู้นำโลกทั้งหลายด้วยสุนทรพจน์เจ็บจี๊ดว่า How Dare You! คุณกล้าดียังไง ที่มัวแต่สนใจตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ และละเลยการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ผู้ใหญ่อย่างพวกคุณกำลังขโมยความฝันและความเป็นเด็กจากพวกเรา ทั้งๆที่พวกเราควรจะกลับเข้าโรงเรียน ไม่ใช่มายืนอยู่ตรงนี้ พวกคุณสำนึกไหมว่าระบบนิเวศทั้งหมดกำลังพังทลาย เรากำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดมีแต่เรื่องเงินและการหลอกลวงเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด คุณกล้าดียังไง!
การลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ผู้ใหญ่รับผิดชอบต่ออนาคตของโลก ปลุกกระแสให้คน Gen Z จำนวนมากกล้าออกมาแสดงความคิดเห็น และทำสิ่งต่างๆเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ก็ได้บิ๊กอิมแพ็กมาจากความเคลื่อนไหวของ “มาลาลา ยูซาฟไซ” นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีวัย 23 ชาวปากีสถาน เธอออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของสตรีในบ้านเกิด เมืองมินโกรา เขตสวัต จังหวัดไคเบอร์ปัคตุนควา ประเทศปากีสถาน จนถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายตาลีบันลอบปองร้าย หลายครั้ง นับตั้งแต่ตาลีบันเข้ามายึดครองหุบเขาสวัตเป็นแหล่งก่อการร้าย ผู้นำกลุ่มตาลีบันพยายามรณรงค์เพื่อล้มล้างสถาบันของรัฐรวมถึงเผาทำลายโรงเรียนสตรี โดยอ้างว่าขัดต่อศาสนาอิสลาม ที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ ในขณะที่มีโรงเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยแห่งถูกเผาทำลาย โรงเรียนสตรีที่ “มาลาลา” ศึกษาอยู่ยังคงเปิดสอนทุกวัน โดยคุณพ่อของเธอ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนได้พาลูกสาวเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านตาลีบัน ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ “มาลาลา” กล่าวปราศรัยในหัวข้อ “ตาลีบันกล้าดียังไงจึงมาลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาของฉัน” ชื่อเสียงของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการเขียนบล็อกให้สำนักข่าวบีบีซี โดยใช้นามแฝงบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตในช่วงที่ถูกตาลีบันควบคุมตัวและจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ เขตสวัตกลายเป็นแหล่งก่อการร้ายอยู่นานหลายปี กระทั่งสงครามสงบ “มาลาลา” จึงกลับมาทำหน้าที่ประธานสภาเด็กแห่งเขตสวัต เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาให้ผู้หญิงปากีสถาน กระนั้นก็ไม่วายถูกลอบปองร้ายจากกลุ่มตาลีบัน โดยเคยถูกยิงศีรษะเกือบตายมาแล้ว ต้องส่งตัวไปพักฟื้นและหนีภัยในสหราชอาณาจักร พร้อมครอบครัว เมื่อ 2 ปีก่อน เพิ่งมีโอกาสกลับมาเหยียบบ้านเกิดอีกครั้ง ท่ามกลางการอารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ผลจากการต่อสู้อย่างจริงจัง ทำให้เธอกลายเป็นชาวปากีสถานคนแรก และบุคคลอายุน้อยที่สุดเพียง 17 ปี ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2014 ร่วมกับ “ไกลาศ สัตยาธี” จากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพทาง การศึกษาของเด็ก ปัจจุบัน “มาลาลา” มีโอกาสเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และยังคงต่อสู้เพื่อให้เด็กหญิงทุกคนในโลกได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยก่อตั้งกองทุนมาลาลาขึ้น
อีกหนึ่งเยาวชนที่เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขันคือ “เจมี มาร์โกลิน” สาวเฟี้ยววัย 17 ปี จากซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ด้วยความหงุดหงิดที่เห็นพวกผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ทำให้เธอกับเพื่อนๆร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ “Zero Hour” เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลทั่วโลกลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน “เจมี” จัดประท้วงและเดินขบวนถือป้ายเป็นอาชีพ โดยแต่ละครั้งมีเพื่อนๆเยาวชนมาร่วมแสดงพลังหลายพันคน เธอเคยนำขบวนไปยื่นฟ้องรัฐวอชิงตัน โทษฐานที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน จนทำให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของเยาวชนถูกละเมิด แม้คดีจะถูกยกฟ้อง แต่สาวใจเด็ดก็ยังยื่นอุทธรณ์ต่อ และเดินขบวนไปเรื่อยๆจนกว่าลุงๆทั้งหลายจะหยุดฟัง
นอกจากการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิสตรี ก็ยังมี กลุ่มวัยรุ่นมะกันเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธปืนในอเมริกา พวกเขาทั้งห้าคือ เดวิด ฮอก, แจ๊คลีน คอริน, เอ็มมา กอนซาเลซ, คาเมรอน แคสกี และอเล็กซ์ วินด์ เอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์มือปืนวัย 19 บุกกราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์–จอรี สโตนแมน ดักลาส เมืองพาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา เมื่อปี 2018 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยหลังเกิดโศกนาฏกรรม วัยรุ่นทั้ง 5 ชีวิต ได้ร่วมกันก่อตั้ง กลุ่มเคลื่อนไหว #NeverAgainmovement รณรงค์ให้นักเรียนหยุดเรียนทั่วประเทศ และออกเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด โดยจัดกิจกรรมผ่านทุกแพลตฟอร์ม ทั้งออกแคมเปญทางโซเชียลมีเดีย, การพบปะให้สัมภาษณ์สื่อ ตลอดจนเดินสายขึ้นพูดตามเวทีต่างๆ นับเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ไม่เลอะเทอะ
ถ้าพูดถึงเยาวชนนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของชาวเกย์ก็ต้องนึกถึง “เดสมอนด์ นาโปลส์” ตุ๊ดน้อยวัย 13 ปี จากแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ที่ร่วมแสดงพลังในงานเดินขบวนพาเหรดเกย์ระดับโลก “New York City Pride March” เมื่อปี 2015 จัดโดยกลุ่ม LGBTQ เพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยคลิปเดินขบวนของตุ๊ดน้อยวัย 8 ขวบ ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกจนกลายเป็นไวรัลดัง ถึงขนาดที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ขนานนามให้เป็น “อนาคตของชาติ” แม้ผู้ใหญ่จะวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการแสดงออกเกินวัยของตุ๊ดน้อย แต่เหล่าแม่ๆก็ออกโรงปกป้องและสนับสนุนความเคลื่อนไหวของทายาทสายรุ้ง ปัจจุบัน “เดสมอนด์ อิซ อะเมซซิ่ง” กลายเป็น “แดร็กควีนรุ่นใหม่” ที่เจิดจรัสที่สุดของวงการ มีผลงานใหม่ๆออกมาต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่กล้าแสดงออกและเป็นตัวของตัวเองอย่างสร้างสรรค์
จิ๋วแต่แจ๋วเป็นไอดอลการเคลื่อนไหวเพื่อโลกที่ดีกว่าของเด็กยุคใหม่ ยังรวมถึง “แมรี โคเพนี” หนูน้อยวัย 11 ขวบ จากเมืองฟลินต์ รัฐมิชิแกน น้องหนูเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ตอนอายุ 8 ขวบ เพื่อบอกเล่าปัญหาวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำดื่มที่เมืองฟลินต์กำลังเผชิญ ทันทีที่ผู้นำทำเนียบขาวได้อ่านจดหมาย ก็รุดหน้ามาพบสาวน้อยแมรี พร้อมสั่งแก้วิกฤติการขาดแคลนน้ำดื่ม สะอาดโดยด่วน งานนี้นายกเทศมนตรีเมืองฟลินต์ได้รับไฟเขียวให้เปลี่ยนท่อประปาตะกั่วทั่วทั้งเมือง เนื่องจากอยู่ในสภาพผุกร่อน มาก ทำให้น้ำประปาปนเปื้อนไปด้วยพิษโลหะหนัก ปัจจุบันน้องหนูแมรียังคงทำหน้าที่ “ลิตเติล มิส ฟรินต์” คอยรณรงค์และทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ รวมถึงการติดแฮชแท็ก #WednesdaysForWater เพื่อกระตุ้นเตือนว่าที่ไหนเกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดบ้าง
คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งก็สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้!! อนาคตเป็นของพวกเขา ต้องให้เด็กได้เลือกเอง.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่านเพิ่มเติม...
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
August 23, 2020 at 05:30AM
https://ift.tt/2QiM7xm
ถึงเป็นเด็กก็มีหัวใจนะ!! เปิดวาร์ปเยาวชนนักเคลื่อนไหวสู้เพื่อโลก - ไทยรัฐ
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ถึงเป็นเด็กก็มีหัวใจนะ!! เปิดวาร์ปเยาวชนนักเคลื่อนไหวสู้เพื่อโลก - ไทยรัฐ"
Post a Comment