อรรถพล บัวพัฒน์ เดินทางจากขอนแก่นสู่ถนนราชดำเนินที่กรุงเทพฯ พร้อมกับกล่องหนึ่งใบ
เสียงหัวเราะชอบใจของผู้ชุมนุมหลายพันคนดังขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเขาทยอยหยิบของออกมาโชว์ทีละชิ้น
จาก งูเห่ายางที่เขาบอกว่า "สีนวล", ถุงแป้งที่เขาย้ำว่าไม่ใช่โคเคน ไปจนถึง ผักแมงลัก หรือ "ผักอีตู่" ในภาษาอีสาน ที่เขาขว้างทิ้งลงพื้นเพราะ "บริหารประเทศหมาไม่แด*"
"อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความประทับใจได้ง่ายที่สุด ...มันสร้างมวลชน สร้างความเข้าใจได้" อรรถพล สมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงการขึ้นเวทีปราศัยในการชุมนุมของ "คณะประชาชนปลดแอก" เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งถือเป็นการออกมาของผู้ร่วมชุมนุมที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี
นอกจากจุดยืนและข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ไปในทิศทางเดียวกัน การสื่อสารที่ดีเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหลอมรวมผู้ชุมนุมจำนวนมหาศาลไว้ได้ และหลายคนก็ประทับใจการปราศรัยของชายวัย 30 ปีจากขอนแก่นคนนี้มากที่สุด
หลังอารมณ์ขันทำให้ผู้ชุมนุมผ่อนคลาย อรรถพลละจากกล่องบรรจุมุกตลกแล้วเดินหน้าสื่อสารถึงประเด็นที่หนักขึ้นโดยใช้เพียงไมโครโฟน เขาบอกว่าความขัดแย้งในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องช่องว่างระหว่างวัย แต่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างคนที่ "ตื่น" และ "ยังไม่ตื่น" เท่านั้นเอง
"มันไม่ควรจะมีผู้บัญชาการทหารบกของชาติไหนที่แสดงตัวเป็นปรปักษ์และเป็นศัตรูกับประชาชน" อรรถพลกล่าวบนเวที ก่อนจะเปลี่ยนไปแตะประเด็นทางการเมืองอื่น ๆ อย่างหลากหลาย
อรรถพลปราศรัยต่อว่าหัวใจสำคัญในการพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนที่เห็นต่างคือการตั้งคำถามถึงเรื่องใกล้ตัวที่สุด อาทิ ทุกวันนี้ยังมีหวยใต้ดินอยู่เพราะคนในกองทัพยังได้ผลประโยชน์อยู่หรือเปล่า เหตุใดถึงยังมีการยัดเงินที่ด่านตำรวจอยู่ หรือชายไทยที่ต้องเกณฑ์ทหารเพื่อ "ไปรบกับญาติ ฆ่ากับมด และซักกางเกงในให้เมียนายพล"
ต่อมาในวันที่ 20 ส.ค. ในกิจกรรม "จัดม็อบไล่แม่งเลย" บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อ.เมือง จ.ขอนแก่น อรรถพลยังใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือต่อสู้ต่อเนื่อง นำผู้ชุมนุมจัดพิธีไสยศาสตร์ไล่คณะรัฐบาล และชูรูปปั้นคล้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "กุมารทองของรัฐบาล" สามารถเรียกเสียงฮาจากผู้ชุมนุมได้อย่างล้นหลาม
ในฐานะติวเตอร์สอนวิชาภาษาไทย สังคม และ GAT เชื่อมโยง (ข้อสอบวัดทักษะเชิงวิเคราะห์) อรรถพลบอกว่าเขาคุ้นชินกับการพูดต่อหน้าคนหมู่มากอยู่แล้ว และการปราศรัยในวันนั้นทำให้เขารู้สึกทั้งโล่งและฮึกเหิมไปพร้อม ๆ กัน
อรรถพลบอกว่า การที่มวลชนออกมาอย่างมหาศาลเมื่อกลางเดือนเพราะความอัดอั้น "เป็นสิ่งที่เกิดจากการกดทับอย่างมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา สังคมเห็นความจริงร่วมกัน มันจึงต้องลุกออกมาแสดงอะไรบางอย่างในพื้นที่ร่วมกัน"
สำหรับอรรถพลเองที่เกิดและโตที่ จ.ขอนแก่น การ "ตื่น" ของเขามาจากความสงสัยข้องใจ
"หนังสือเรียนที่มีประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นเล่ม อยุธยาเป็นเล่ม แต่ประวัติการเมืองการปกครองสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มีไม่กี่สิบหน้า ...14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ มีเรื่องละครึ่งหน้า"
ความสงสัยนี้ทำให้เขาหาข้อมูลเพิ่มเอง เลยจากขอบเขตของหนังสือเรียนออกไป
"มาพยายามขบคิดเอาจริง ๆ ก็ช่วงมหาวิทยาลัย โตขึ้น เราเห็นสภาพอะไรมากขึ้น เราเริ่มอ่านหนังสือมากขึ้น เราเริ่มพูดคุยในวงสนทนา มันก็ไปปะติดปะต่อข้อมูลเดิม ความคิดเดิม มันค่อย ๆ เห็นโครงสร้างทางสังคมเยอะขึ้น"
อรรถพลบอกว่า "ดินปืนมันมีอยู่ในกระบอกอยู่แล้ว" แต่ชนวนคือตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ นำมาสู่การก่อตั้งกลุ่ม "มข.พอกันที" ขึ้นทันที
"หลายคนมีความหวังกับแนวคิด นโนบาย [ของพรรคอนาคตใหม่] แล้วอยู่ดี ๆ ความหวังถูกพยายามทำลายด้วยสิ่งที่เราก็เห็นอยู่ว่าไม่ถูกต้องและอยุติธรรม แล้วมันคือการหาเรื่องเพื่อกำจัดคู่แข่ง"
ในเวลาต่อมา "มข. พอกันที" เปลี่ยนชื่อเป็น "ขอนแก่นพอกันที" เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็น "เจ้าของร่วม" ไม่ใช่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้น
อรรถพลเล่าว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 กลุ่มขอนแก่นพอกันทีก็พักเรื่องการเมืองมาช่วยเหลือประชาชนทั่วไปในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
"[กลุ่มเรา] คุยสนทนากันว่าถ้าจะทำการเมืองให้สำเร็จ การทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพี่น้องประชาชน เป็นอะไรที่สำคัญมาก"
ความใกล้ชิดกับประชาชนทำให้ขอนแก่นพอกันทีได้กลายมาเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาของประชาชนในพื้นที่ โดยตอนนี้มีคนติดตามเพจเฟซบุ๊กกลุ่มมากกว่า 3.3 หมื่นคน
"มันกลายเป็นว่าได้รับเรื่องร้องเรียนให้เข้ามาช่วยดูแล ช่วยสะท้อน มันกลายเป็นสิ่งที่มีพลัง เพราะมันคือการรับรู้ ทำให้ผู้มีอำนาจต้องรีบแก้ไข"
แม้การปราศรัยเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนจะทำให้เขาโดดเด่นขึ้นมา แต่ "ต่อให้ไม่มีผม ขอนแก่นพอกันทีก็ไปได้ ...ผมไม่ใช่มันสมองเดียว"
เมื่อถามว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองไทยได้เกิดขึ้นหรือยัง อรรถพลบอกว่า "เห็นความต่อเนื่อง" ของประวัติศาสตร์ และทุกคนล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
เขาย้ำว่า ตอนนี้ ข้อเรียกร้องสามข้อ สองจุดยืน และหนึ่งความฝัน ได้กลายเป็นฉันทามติของสังคมไปแล้ว
"ฝันของเรามันไกลกว่านั้น แต่จะเอาฝันทุกอย่างในเวลาเดียวไม่ได้" อรรถพลกล่าว "อยากจะเห็นประเทศที่สวยงาม อยากจะเห็นรัฐสวัสดิการ ฝันอยากจะเห็นการพูดคุยเรื่องศาสนา สังคม วัฒนธรรม การเมือง ได้อย่างเสรี"
Comedy Against Dictatorship
อารมณ์ขันก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ปราศรัยอีกคนซึ่งเรียกตัวเองว่า Comedy Against Dictatorship
จังหวะหนึ่งขณะปราศรัยอยู่บนเวทีใหญ่ที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 16 ส.ค. เขาหยิบขวดกระทิงแดงขึ้นมาซดและบอกว่ามี "รสชาติแห่งความเหลื่อมล้ำ" เรียกเสียงเฮฮาจากผู้ชุมนุมได้มากมาย
"ผมมองว่าเสียงหัวเราะมันทำให้อะไรที่เป็นอำนาจ หรือน่ากลัว มันถูกลดความน่ากลัวลง เราเสียดสี เราล้อเล่นอะ" ชายวัย 29 ปีจากกรุงเทพฯ ผู้นี้บอกกับบีบีซีไทย
ปกติแล้ว เขาเป็นนักแสดงที่รับงานโฆษณาและละครทีวี ตอนขึ้นเวทีในวันนั้น เขาทาหน้าขาวตามธรรมเนียมของตัวตลกหรือนักแสดงละครใบ้ แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะสามารถปิดบังตัวตนที่แท้จริงได้มิดชิด สะท้อนให้เห็นท่าทีของนักแสดงและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยที่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักร้องกลุ่ม BNK48 บางคน หรือนักแสดงรุ่นใหม่หลายคนในสังกัดนาดาวบางกอก
"พอมันมีคนเปิดแล้วมีคนกล้าตาม เขารู้สึกว่าการที่เขาทำแบบนี้มันไม่ผิด ถ้าโดนก็โดนกันหมดอะ วงการบันเทิง"
เขายอมรับว่ามีความกังวลว่าการขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมืองส่งผลกระทบต่องาน "แต่ก็คิดว่าคงไม่ได้มีโอกาสแบบนี้บ่อย ๆ ...รู้สึกว่าถ้าผมไม่พูด ผมจะเสียใจมากกว่า ผมก็ยึดเอาตัวเองเป็นหลักมากกว่า"
"แม่ผมเป็นสลิ่ม" คือเรื่องเล่าที่เรียกเสียงฮาจากคนได้มากที่สุด โดยเขาเล่าว่าสามารถเปลี่ยนแม่ที่เคยสนับสนุน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กลายมาเป็นคนที่มีความคิดทางการเมืองเหมือนกันได้ด้วยวิชา "ตาสว่าง 101"
วิชาดังกล่าวมีทั้งการให้ดูรายการจอห์น วิญญู และคำ ผกา, ให้อ่านข่าวบีบีซีและประชาไท, และในที่สุด เป็นรายการยูทิวบ์ "วันเพ็ญ สวีเดน" ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างออกรส ที่ทำให้แม่เขาเปลี่ยนความคิดได้ในที่สุด
เขาบอกบีบีซีไทยว่า ไม่แน่ว่าเสียงหัวเราะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม แต่ "ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ผมถนัดที่สุด ถ้าให้ผมไปเป็นแกนนำม็อบ ผมทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ได้มีพลังในรูปแบบนั้น เครื่องมือในการต่อสู้มันมีได้หลากหลาย"
ผู้ปราศรัยรายนี้เริ่มสนใจการเมืองจริงจังในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา และ "ที่มาเข้มข้นสุด ๆ คือหลังจากรัฐประหาร"
ในฐานะชนชั้นกลางคนหนึ่ง เขายอมรับว่าไม่ได้รับความเดือดร้อนอย่างตรง ๆ "แต่สิ่งที่ผมรู้สึกโกรธคือ สิ่งที่เขาทำมันไม่เห็นหัวประชาชนอะครับ มันมีการโกงกันแบบเห็นจะ ๆ ...ผมเชื่อว่าคนที่ลำบากกว่าผมอะโดนแน่ ๆ"
"การที่เขาโกงเลือกตั้งมา มันเยอะมาก ทั้งแบบ สว. 250 คน หรือวิธีการแบ่งเขต คำนวณ ส.ส. แบบใหม่ มันเห็นจะ ๆ กันอยู่แล้วว่าอันนี้มันไม่ถูกต้อง"
หลังจากการปราศรัยในวันนั้น ชายวัย 29 ปีผู้นี้บอกว่าได้รับทั้งเสียงชื่นชมและคนที่มาด่าว่าเป็น "ไอ้ลูกเนรคุณ"
เขาย้ำว่าจุดมุ่งหมายคืออยากให้สองฝ่ายกลับมาคุยกันได้ และคอร์สเรียน "ตาสว่าง 101" เป็นเพียงสิ่งที่เสริมแต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และสุดท้ายแล้ว แม่ของเขาก็ปรับเปลี่ยนความคิดทางการเมืองผ่านการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง
"โดยส่วนตัวผมก็ไม่เชื่อว่าเราจะสามารถบังคับใครให้เปลี่ยนได้ ยกเว้นเขาจะเปิดใจเอง มันคือเรื่องตัวตนของแต่ละคนจริง ๆ ยอมไหม ยอมละทิ้งความคิดเดิมที่เคยเชื่อเคยศรัทธามา สิ่งที่คุณเข้าใจมันอาจจะไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด คุณลองเปิดใจรับสิ่งใหม่ มันเวิร์กกับคุณไหม ก็แค่ยอมรับว่าคนเราก็เปลี่ยนได้ คนเรามันไม่จำเป็นต้องอยู่กับความเชื่อเดิมตลอดเวลา"
ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข
"ทุกเช้าที่ผมตื่นนอนผมต้องถามตัวเองว่าผมมีเสรีภาพจริง ๆ หรือ ผมรู้สึกถึงกรงขังขนาดใหญ่ที่ล้อมผมไว้ หากผมเป็นนก ผมก็บินได้เฉพาะในกรงขัง" นักศึกษาวัย 24 ปี กล่าว
ประโยคดังกล่าวฟังกึกก้องเป็นพิเศษเมื่อออกจากปากของคนจาก จ. ปัตตานี ที่โตมาเกือบทั้งชีวิตภายใต้กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในภายในราชอาณาจักร
ในขณะที่ผู้ปราศรัยอีกสองคนมาพร้อมมุกตลก ซูกริฟฟี ลาเตะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) องค์การนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนใต้ ขึ้นเวทีพร้อมความรู้สึกอัดอั้นและวลีที่โด่งดังที่สุดจากคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาถึงสิทธิ "ที่จะเพิกถอนมิได้" อย่าง "ชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข"
นักศึกษาวัย 24 ปีผู้นี้บอกกับบีบีซีไทยว่า คำประกาศดังกล่าวตรงกับบริบทในปัจจุบันเพราะ "เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่ารัฐบาลไม่สามารถจะประกันสิทธิ เสรีภาพ หรือความสุขของประชาชนได้ มันคือความชอบธรรมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่จะล้มหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น"
บนเวทีปราศรัย ซูกริฟฟี บอกว่า อำนาจทหารเข้าไปอยู่ในทุกช่วงชีวิตของประชาชน ก่อนการเลือกตั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้โอนอำนาจทั้งหมดให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ16 ปีของปัญหาไฟใต้ แม้รัฐทุ่มงบประมาณลงไปมากมาย แต่ก็ไม่เคยแก้ปัญหาให้เกิดสันติภาพขึ้นมา
"ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่เป็นปัญหาทางการเมือง เม็ดเงินหนึ่งหมื่นล้านจากภาษีพวกท่าน ถูกเทไปที่นั่นทุกปี ทุกปี ทุกปี และมีคนตายทุกปี"
เขาบอกว่าทหารเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นตลาด มัสยิด หรือโรงเรียน ประชาชนถูกขอถ่ายรูปบัตรประชาชนเวลาผ่านด่านทหารหรือแค่ซื้อซิมมือถือ
ซูกริฟฟี เล่าว่า ในฐานะคนที่โตมาท่ามกลางความรุนแรง เขาครุ่นคิดมาตลอดว่ามี "เครื่องมือ คุณค่า หรือหลักการแบบไหน" ที่จะพาพื้นที่นี้ออกจากภาวะดังกล่าว และก็ได้ข้อสรุปสั้น ๆ ว่าเป็นเพราะ "รัฐนี้มันไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ สักที ไม่เคยมีเสรีภาพ ไม่เคยมีพื้นที่ที่คนเห็นต่างทางการเมืองสามารถพูดได้อย่างปลอดภัย"
นักศึกษานักเคลื่อนไหวผู้นี้บอกกับบีบีซีไทยว่าสิ่งที่เขาเล่าล้วนเป็นประสบการณ์ที่เจอมากับตัวทั้งนั้น อย่างกรณีนายอับดุลเลาะ อีมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซูกริฟฟีบอกว่าตนเป็นผู้เข้าไปให้การช่วยเหลือและค่อนข้างจะสนิทสนมกับญาติพี่น้องของเขา
น้องสาวของเขาเอง เมื่อไปโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้นที่เน้นการสอนจริยธรรม การอ่าน-เขียน ภาษามลายู และการประกอบศาสนกิจ ก็ต้องเจอกับทหาร
"เราว่าเรื่องแบบนี้มันควรจะพอได้แล้ว… ภาพจำแบบนั้นเราไม่อยากให้น้องสาวเราได้ประสบอีกแล้ว เราอยากให้มันจบที่รุ่นเรา แค่นั้นเอง"
ซูกริฟฟีบอกว่า ข้อเสนอของประชาชนปลดแอกได้กลายเป็นฉันทามติของสาธารณชนไปแล้ว และเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการของเขาเพราะการแก้รัฐธรรมนูญก็คือการปฏิรูป กอ.รมน. และลดอำนาจกองทัพ และ "หยุดคุกคามประชาชน" ก็เป็นคำพูดง่าย ๆ ที่ทรงพลังสำหรับคนอย่างเขาที่มาจากภาคใต้มาก
สิ่งที่ซูกริฟฟีอยากย้ำคือ ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เรื่องของเขาคนเดียว
"มันเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศเพราะผมพูดถึงภาษีพวกเขาที่ถูกเทไปที่นั่นเป็นหมื่น ๆ ล้านทุกปี ลูกเขาที่ต้องเกณฑ์ทหารไปเสียชีวิตที่นั่น"
นอกจากนี้ เขาต้องการให้คนในพื้นที่เองกลับมา "ตื่นตัว" อีกครั้ง ไม่ให้ชินชาว่าการโดนถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือเชิญไปค่ายทหาร เป็นเรื่องปกติ
"ความปกติหรือความเคยชินแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องปกติ มันเป็นเรื่องความไม่ปกติที่ถูกโครงสร้างรัฐนี้ทำให้เป็นเรื่องปกติ มีไอโอ (ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐ) พยายามบอกว่าที่นั่นมีความขัดแย้งของคนศาสนาเดียวกัน ผมก็พยายามบอกว่ามันไม่ใช่แล้วนะ ไม่ใช่แบบนั้น ผมโยนคำถามใหญ่ ๆ ให้สาธารณะได้ถกเถียง สรุปแล้วคนไทยส่วนใหญ่จะเอายังไงกับสันติภาพปาตานี"
"ทำมัน" - Google News
August 22, 2020 at 06:22PM
https://ift.tt/3l6b2CB
ประชาชนปลดแอก : ทำความรู้จัก 3 ดาวปราศรัยจากภาคอีสาน กลาง และใต้ - บีบีซีไทย
"ทำมัน" - Google News
https://ift.tt/2yR92uw
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ประชาชนปลดแอก : ทำความรู้จัก 3 ดาวปราศรัยจากภาคอีสาน กลาง และใต้ - บีบีซีไทย"
Post a Comment