หนึ่งสัปดาห์ภายหลังการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในกัมพูชา กระแสเรียกร้องทั้งในโลกออนไลน์และตามท้องถนน ให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาเข้าช่วยค้นหาตัวมีอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเสียงวิจารณ์ถึงบทบาทของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเฉพาะสำนักงานในไทย
ความสนใจในโลกออนไลน์ต่อการหายตัวไป ส่งให้แฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในโลกทวิตภพ และเพิ่มเป็นกว่า 1 ล้านครั้งในวันที่สองของการหายตัวไปของวันเฉลิม (5 มิ.ย.) ตามด้วยคำถามที่จ่อไมค์ไปยัง "ปู" ไปรยา ลุนเบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ประจำประเทศไทย ว่าเธอมีจุดยืนอย่างไรต่อเรื่องนี้
"สนับสนุนความสงบและเรื่องที่ไม่ใช่การเมือง นี่เป็นเรื่องที่มีความเป็นการเมืองสูงมาก" เป็นคำตอบของดาราสาวที่ทำให้สื่อสังคมออนไลน์เริ่มตั้งคำถามกับความรู้เข้าใจต่อเรื่องผู้ลี้ภัยของทูตสันถวไมตรี ไปจนถึงบทบาทการช่วยเหลือของ UNHCR ในไทยที่ผู้ลี้ภัยบางรายและนักกิจกรรมที่มองว่า UNHCR น่าจะมีส่งเสียงได้มากกว่านี้ในการแสดงจุดยืนเรื่องการถูกบังคับให้สูญหายของผู้ภัยทางการเมืองชาวไทย
หลัจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์เช่นกัน โฆษก UNHCR ในเจนีวา ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า องค์กรมีภารกิจช่วยคนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศตัวเองเนื่องจากความหวาดกลัวเพราะความเห็นต่างทางการเมือง แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นเป็นรายกรณี รวมทั้งกรณีของวันเฉลิม
บีบีซีไทยพูดคุยผู้ลี้ภัยชาวไทยในยุโรป นักกิจกรรมและเอ็นจีโอด้านการลี้ภัยในไทย พวกเขาคิดอย่างไรกับบทบาทขององค์กรเพื่อผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ
ควรส่งเสียงให้ "ดัง" ขึ้น
พุทธณี กางกั้น เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยต่างชาติในไทย จากองค์กร Fortify Rights เห็นว่า สำนักงาน UNHCR ในแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งในการกดดันต่อรองกับรัฐบาลประเทศเจ้าภาพ ไม่เท่ากัน
"บางประเทศก็เข้มแข็งค่อนข้างมากในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เลย แต่ต้องยอมรับว่าในฝั่งของ UNHCR ไทย
เรายังไม่เห็นบทบาทนี้เท่าไหร่ในการออกมาในที่สาธารณะว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยในกรณีต่าง ๆ" พุทธณี กล่าวถึงบริบทของการช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาขอยื่นสถานะลี้ภัยไปยังประเทศที่สามกับ สำนักงาน UNHCR ในประเทศไทย
สำหรับกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิมในกัมพูชา พุทธณี อธิบายว่า โดยอาณัติ (mandate) ของ UNHCR แล้ว หากวันเฉลิมมีสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของ UNHCR ประเทศนั้น ๆ หรือรัฐบาลประเทศนั้นที่เป็นหน่วยให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยด้วยรัฐบาลเองหากร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย
นักวิจัยเรื่องผู้ลี้ภัย เห็นว่าการที่ UNHCR ไม่ออกมาขับเคลื่อนในกรณีเฉลิม อาจเพราะมองว่า วันเฉลิมยังไม่ได้มีสถานภาพผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ และคาบเกี่ยวกับบทบาทของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR)
"ถ้ามองความเป็นจริงจากกรณีของวันเฉลิม จากการทำงานในประเด็นเหล่านี้ เขาเข้าข่ายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว เพราะว่าต้องหนีภัยที่เข้าข่ายเป็นภัยประหัตประหาร ด้วยเหตุแห่งความเห็นต่างทางการเมือง การกลับประเทศตัวเองอาจมีภัยถึงชีวิต" พุทธณีกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระแสที่ออกมาเรียกร้องต่อ UNHCR ในกรณีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยของสังคมไทยต่อผู้ลี้ภัยหรือผู้เข้าข่ายผู้ลี้ภัยชาวไทย และอยากให้UNHCRส่งเสียงให้ "ดัง" ขึ้นมาบ้าง
"สิ่งที่ UNHCR ควรจะทำคือแถลงการณ์ว่าองค์กรได้ทำอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั้งในประเทศไทยและผู้ลี้ภัยไทยในภูมิภาค"
ไม่ได้สู้เพื่อผู้ลี้ภัย ?
ศักดา แก้วบัวดี นักแสดงที่ให้ความช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศไทยโดยไม่สังกัดองค์กรใด ๆ ร่วมตั้งคำถามถึงการทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยขององค์กรด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ
ศักดาโพสต์ทางเฟซบุ๊ก เล่าประสบการณ์ที่เจอในช่วง 3 ปี 6 เดือน ที่มาช่วยผู้ลี้ภัยในเมืองและได้มีการประสานงานกับ UNHCR ในไทย ว่าไม่เคยเห็น UNHCR พูดถึงกลุ่มผู้ลี้ภัย จากประเทศต่าง ๆ เช่น ปากีสถาน โซมาเลีย คองโก เวียดนาม เกาหลีเหนือ ที่หลบอยู่ตามซอกหลืบของกรุงเทพฯ ราว 6,000 คน และถูกกักขังที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอีกนับพันคน แม้แต่ครั้งเดียว
"พอเข้ามาได้สัมผัสได้รู้จากปากผู้ลี้ภัยเอง หลายคนพูดตรงกันว่าทาง UNHCR ไม่ค่อยช่วยเหลือได้เต็มที่ ประมาณ 95% ที่ผมช่วยให้ได้ไปประเทศที่สาม ทั้งหมดโดน (UNHCR) ปฏิเสธหมดเลย" ศักดากล่าวกับบีบีซีไทย
ศักดา เล่าว่า ที่ผ่านมาเขาช่วยเหลือครอบครัวของผู้ลี้ภัยต่างชาติให้ได้ลี้ภัยไปประเทศที่สาม 5 ครอบครัว เป็นชาวปากีสถาน คองโก และชาวม้ง ครอบครัวชาวปากีสถานครอบครัวหนึ่ง มีสมาชิกต้องถูกกักใน ตม.เป็นเวลา 4-5 ปี เนื่องจากถูกปฏฺิเสธสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR จากการยื่นสถานะ 2 ครั้ง แต่เมื่อเขาช่วยยื่นเรื่องลี้ภัยกับสถานทูตแคนาดา ก็ได้รับการตอบรับ และใช้เวลา 8 เดือนในขั้นตอนการสัมภาษณ์และสืบประวัติ ก่อนระดมทุนค่าใช้จ่ายด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น ค่าเครื่องบิน ค่าปรับการอยู่เกินกำหนดวีซ่า
"ผมค่อนข้างเสียใจ.... ผมคิดว่าองค์กรนี้เขาไม่ได้สู้เพื่อผู้ลี้ภัยอย่างที่ควรจะเป็น"
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของ UNHCR ประเทศไทย ระบุข้อมูลว่าได้ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง โดยมีผู้ลี้ภัยจำนวน 305 คน ทั่วประเทศเสนอชื่อสมัครโครงการโยกย้ายถิ่นฐานไปยังต่างประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงบทบาทขององค์กรผู้ลี้ภัยในกรณีวันเฉลิม ศักดาบอกว่า พอจะเข้าใจระดับหนึ่งว่าการเข้าไปดำเนินการกับกรณีนี้ซึ่งภายใต้กฎหมายไทยกล่าวหาว่าเป็นนักโทษการเมืองอาจทำให้มีปัญหากับรัฐบาลไทย แต่ในแง่ที่เป็น UNHCR ก็ควรแสดงท่าทีในการเป็น "กระบอกเสียง" กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะชัดเจนว่าวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัย
ประสบการณ์ผู้ลี้ภัยไทยกับหน่วยงาน UN
บีบีซีไทยสอบถามผู้ลี้ภัยชาวไทยที่ตั้งรกรากในประเทศประชาธิปไตยแล้ว ถึงประสบการณ์การร้องขอลี้ภัยไปที่ UNHCR และหน่วยงานอื่นของ UN ทั้งหมดพูดตรงกันว่า ไมได้รับความสนใจ เนื่องจากจำนวนผู้ยื่นคำขอมีมาก กระบวนการรอคอยที่ยาวนาน ทำให้พวกเขาต้องใช้ช่องทางตรงไปที่ประเทศเจ้าภาพจนได้ไปพำนักลี้ภัยในประเทศเหล่านั้น
"ผมเคยไปเข้าคิวยื่นคำขอที่สำนักงาน UNHCR ในมาเลเซีย ไปรอตั้งแต่ 7 โมงเช้า กว่าจะได้คุยก็ 5 โมงเย็น และคุยเพียง 5 นาที เท่านั้น" ผู้ลี้ภัยวัย 53 ที่ขณะนี้ได้พำนักอยู่ในยุโรปหลังจากเขาเลือกศึกษาเส้นทางการลี้ภัย และยื่นขอลี้ภัยโดยตรงกับประเทศเจ้าภาพ เล่าประสบการณ์ที่พบกับตัวเอง
ผู้ลี้ภัยชายสูงวัยอีกรายบอกว่า เขาไปติดต่อกับผู้แทนของ UNHCR ในเจนีวา ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เพื่อขอให้ UNHCR ให้ความช่วยเหลือกับผู้ลี้ภัยคดีการเมืองชาวไทยที่ซ่อนตัวอยู่ในในกัมพูชา และลาว ราว 200 คน แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่มีงบประมาณ และเป็นการตัดสินใจของสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย ในกรุงเทพฯ
"เมื่อคำตอบเป็นเช่นนี้ เราจึงไปคาดหวังอะไรกับ UNHCR ได้ยาก ทำให้ผู้ลี้ภัยไทยต้องหาลู่ทางกันเอง"
นิธิวัต วรรณศิริ หรือ "จอม ไฟเย็น" เป็นคนหนึ่งที่ลี้ภัยออกจากไทยไปอยู่ลาวหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เล่าถึงความยากลำบากในการลี้ภัยในขณะนั้นว่าต้องย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง เพื่อหลบหนีการตามจับกุมของฝ่ายไทย จนอยู่มาวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) มาขอให้รวบรวมรายชื่อผู้ลี้ภัยคดีการเมืองจากไทย ที่ต้องการไปประเทศที่ 3
"ผมส่งให้ไป 10 คน แต่เมื่อรับข้อมูลจากเราไป หายไป 3 ปี ไม่มีอะไรกลับมาเลย เรากลัวว่าข้อมูลเหล่านั้น จะไปตกอยู่กับทางการไทย" นิธิวัตกล่าว
เมื่อไม่มีเสียงตอบรับ สมาชิกวงไฟเย็น จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชน ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย โที่ช่วยยื่นคำข้อี้ภัยผ่านสถานทูตของประเทศนั้น ๆ ในลาว แต่ไม่มีใครตอบรับ จนกระทั่งผ่านไป 5 ปีนับตั้งแต่นิธิวัตมาอยู่ในลาว มีรายงานการอุ้มหายถึง 8 ราย ในที่สุดสถานทูตฝรั่งเศสในลาวก็ตอบกลับมาว่าอนุมัติให้สมาชิกวงไฟเย็นเดินทางไปลี้ภัยในฝรั่งเศส
ปัจจุบัน นิธิวัตและสมาชิกวงไฟเย็นอยู่ในกรุงปารีสมา 9 เดือนแล้ว โดยรัฐบาลฝรั่งเศสจัดที่พักและมีสวัสดิการให้ เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้วเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ขณะนี้กำลังเรียนภาษาฝรั่งเศส และใช้เวลาส่วนใหญ่ร่วมกิจกรรมกับศิลปินผู้ลี้ภัยคนอื่น
ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยไทยทุกราย ที่มีประสบการณ์ไม่ดีกับหน่วยงานของ UN
เอกภพ เหลือรา หรือ "ตั้ง อาชีวะ" ที่ขณะนี้ได้หนังสือเดินทางนิวซีแลนด์แล้ว บอกว่า เขาโชคดี ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก UNOHCHR ในกัมพูชา
เอกภพเล่าว่า ย้อนหลังไปเมื่อ ธ.ค. 2556 เขาหนีออกจากไทยไปกัมพูชา แล้วติดต่อกับสำนักงาน UNHCR ในกัมพูชาทันที เพื่อยื่นเรื่องขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3 แต่เรื่องเงียบหาย จนกระทั่งปลาย ต.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนกัมพูชา พร้อมหนึ่งในประเด็นหารือ คือ การร้องส่งผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับไปดำเนินคดีในไทย ด้วยเหตุนี้ เอกภพจึงเคลื่อนไหวอีกครั้ง ร้องต่อเจ้าหน้าที่ของ UNOHCHR ในกัมพูชา ขอความช่วยเหลืออีกครั้ง ว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย ทำให้คำร้องของเขาไปถึงสำนักงาน UNHCR ในกรุงมนิลา และ สำนักงานใหญ่ในเจนีวา
ภายใน 2 สัปดาห์ เขาได้รับการเรียกสัมภาษณ์จากทั้งสถานทูตฝรั่งเศส และสถานทูตนิวซีแลนด์ แต่เขาได้รับคำแนะนำว่าให้เลือกประเทศหลัง
"เขาบอกผมว่าให้มานิวซีแลนด์ดีกว่า เพราะที่ยุโรปเครือข่ายเขาเยอะ"
UNHCR : ไม่อยู่ในฐานะให้ความเห็น
บีบีซีไทย ติดต่อไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย เพื่อขอคำชี้แจงต่อเรื่องนี้และการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีวันเฉลิม แต่ได้รับการตอบกลับจากโฆษก UNHCR ณ นครเจนีวา
บาบาร์ บาลอช โฆษก UNHCR ณ นครเจนีวา ระบุกับบีบีซีไทยทางอีเมลว่า UNHCR ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นเป็นรายกรณี หรือยืนยันถึงสถานะการเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องรักษาเป็นความลับและด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
"ความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตผู้ลี้ภัยเป็นความรับผิดชอบหลักของรัฐแต่ละรัฐที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่บุคคลนั้น" โฆษก UNHCR กล่าว และระบุว่า UNHCR เพียงแต่สนับสนุนประเทศปลายทางที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยเพื่อทำให้แน่ใจว่าผู้ลี้ภัยมีสิทธิในการดำรงชีวิตและความมั่นคงแห่งตัวตน
ส่วน เจเรมี ลอเรนซ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานสื่อของสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Office) ชี้แจงผ่านอีเมลว่า "ด้วยเหตุผลด้านการคุ้มครองความปลอดภัย เราจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียด ของการย้ายถิ่นฐานของแต่ละรายได้ เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการในทางลับ"
เจ้าหน้าที่ประสานสื่อของยูเอ็นฯ เปิดเผยด้วยว่าคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับสูญหาย (Committee on Enforced Disappearances) ที่อยู่ภายใต้สำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งคำร้องไปที่รัฐบาลกัมพูชาแล้วเพื่อขอให้ ค้นหา บอกที่อยู่ และให้ความคุ้มครองบุคคลที่สูญหาย และให้แจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการชุดนี้ได้ทราบภายใน 2 สัปดาห์
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
June 12, 2020 at 05:38PM
https://ift.tt/2BU7CAI
วันเฉลิม : จาก ปู ไปรยา สู่คำถาม บทบาท UNHCR กับผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดน - บีบีซีไทย
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "วันเฉลิม : จาก ปู ไปรยา สู่คำถาม บทบาท UNHCR กับผู้ลี้ภัยการเมืองไทยในต่างแดน - บีบีซีไทย"
Post a Comment