เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (6)
วันที่ 27 มิ.ย. 2563 เวลา 08:30 น.
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
******************
เทคนิคที่สอง ต้องรู้ทันเล่ห์กลหรือ “ธาตุแท้” ของคู่ต่อสู้
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเป็นทหารประจำการมียศแค่นายหมู่คือ “สิบโท” ท่านบอกว่ายศแค่นี้ก็พอแล้ว คือพอที่จะรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมทหาร ท่านบอกว่าทหารถ้าไม่มีตำแหน่ง ไม่มีลูกน้อง ก็ไม่มีอำนาจ เพราะไม่รู้จะสั่งใคร ทหารมีอำนาจด้วยการออกคำสั่ง หรือต้องหาลูกน้องมาคอยรับใช้อำนาจเท่านั้น
ตอนที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี คู่ต่อสู้ของท่านนนอกจากนักการเมืองด้วยกันแล้ว ท่านยังต้องต่อสู้กับทหารอย่างอดทน ซึ่งก็ได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับทหารที่ท่านเป็นมาตั้งแต่ครั้งเป็นนายหมู่เมื่อครั้งสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพา (คือสงครามที่ไทยเรียกร้องเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เข้าประจำการที่กองทัพภาคเหนือ ได้เข้าไปรบถึงเชียงตุงและเชียงรุ้ง ที่ปัจจุบันอยู่ในดินแดนของประเทศจีน)
โดยท่านมีตำแหน่งเป็น “จ่ากองร้อย” ดูแลแผนกพลาธิการที่มีหน้าที่ในการจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า ข้าวปลาอาหาร ไปจนถึงยารักษาโรค และการอบรมให้ความรู้ต่างๆ แก่ทหารในกองร้อยนั้นด้วย (ท่านเล่าถึงทหารเกณฑ์ในสมัยนั้นว่า ในเวลาที่เลิกจากการเข้าเวรยามก็มักจะเข้าไปเที่ยวในเมือง แล้วบางคนก็ไปติดกามโรคมา ทางการจึงให้มีการแจกถุงยางอนามัยให้แก่ทหารหนุ่มๆ เหล่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันกามโรคได้
ท่านได้สอบถามทหารเหล่านั้นว่าทำไมจึงไม่ได้ผล ก็ทราบว่าทหารเหล่านั้นไม่ได้ป้องกันให้เรียบร้อยตามที่ได้กำชับแนะนำ เพราะไปเด็ดส่วนปลายของถุงยางนั้นออกเสียก่อน) กองทัพภาคเหนือนี้นำโดยพันเอกหลวงเสรีเรืองฤทธิ์ และยังมีทหารหนุ่มอีกคนหนึ่งที่ท่านรู้จักมาคุมทัพอยู่ที่จังหวัดลำปาง คนร่ำลือว่าจะเป็นนายทหารที่มีอนาคตไกลต่อไป คือร้อยเอกถนอม กิตติขจร ซึ่งต่อมาก็คือ “จอมพลเจ้าน้ำตา” นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2506 – 2516
ความจริงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังสนิทสนมกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีเรื่องขัดแย้งกันอยู่เป็นระยะ โดยในระยะแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นฝ่ายค้านในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 ทหารก็เข้ามามีสัมพันธ์ด้วยดี (พรรคประชาธิปัตย์เกิดจากการเข้ามารวมตัวกันของพรรคการเมืองหลายพรรคภายหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2489เพื่อต่อสู้กับกลุ่มพรรคที่สนับสนุน อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะกลุ่มที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดีมีเสียงมากกว่า) จนเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในอีกหนึ่งปีต่อมา
พรรคประชาธิปัตย์ก็มีส่วนสำคัญในการอภิปรายโจมตีรัฐบาลที่นำโดยอาจารย์ปรีดีนั้น กระทั่งอาจารย์ปรีดีต้องลาออกจนถึงต้องหลบหนีออกนอกประเทศไป ภายหลังจากที่ทหารภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหวัน เพื่อนรักของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ายึดอำนาจในวันที่ 8 พ.ย.2490 แล้วก็ให้พรรคประชาธิปัตย์มาช่วยบริหารประเทศขัดตาทัพ โดยการนำของ นายควง อภัยวงศ์ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ซึ่งเป็น ส.ส.กรุงเทพฯและเลขาธิการพรรคได้ร่วมเป็นรัฐมนตรีอยู่ในคณะรัฐบาลนั้นด้วย
แต่ต่อมาทหารเห็นว่ารัฐบาลบริหารไม่ได้ดังใจก็ให้นายทหารไป “จี้” นายควง ออกจากตำแหน่งเสีย แต่ท่าน อาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ยังมีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลของจอมพล ป. ซึ่งก็แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับผู้นำทหาร แต่ต่อมาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ออกมาจากการร่วมรัฐบาล เพราะทหารพยายามจะรุกคืบยึดอำนาจในส่วนต่างๆ ไว้ทั้งหมด ท่านจึงออกมาตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้วเขียนบทความ “แซว” การปกครองของจอมพล ป. ที่ท่านเรียกว่า “ระบอบพิบูลสงคราม” แต่ก็ไม่ได้โกรธแค้นกันถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย
แม้หนังสือพิมพ์สยามรัฐจะถูกปิดหลายครั้ง จนกระทั่งตัวเจ้าของคือ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ถูกจับ แต่ก็มีคำสั่งจาก ท่านจอมพล ป. บอกว่าให้ “ดูแล” หม่อมคึกฤทธิ์ให้ดีด้วย ที่สุดก็แค่ถูกปรับไม่ต้องเข้าคุก ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ บอกว่านี่เป็นด้วยความเมตตาของท่านจอมพล จนกระทั่งจอมพล ป.ถูก จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหาร ต้องหลีกลี้ไปนอกประเทศ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ไม่เคย “ตอแย” กับจอมพล ป. อีกเลย ทั้งยังทำบุญให้และเอาใจช่วยในชะตากรรมนั้นด้วยเห็นใจเสมอมา
มาถึงในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีผู้สังเกตว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ดูจะไม่กล้าตอแยกับนายพล “คนดุ” คนนี้เท่าใดนัก เพราะไม่เห็นเขียนบทความโจมตีจอมเผด็จการคนนี้แต่อย่างใด ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในตอนหลังที่นายทหารท่านนี้ถึงแก่อสัญกรรมว่า เป็นคนที่มี “อุดมการณ์ตรงกัน” แม้จะมีความเห็นในวิธีการปกครองที่แตกต่างกัน นั่นก็คือทั้งจอมพลสฤษดิ์และท่านเองนั้น “เทิดทูนพระเจ้าอยู่หัว” เป็นที่ยิ่ง
แต่ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร กลับไม่ได้แก้ไขภาพลักษณ์ของกองทัพให้ดีขึ้น จนอาจจะนำอันตรายมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ปกป้อง ท่านจึง “ตักเตือน” จอมพลเจ้าน้ำตานี้อย่างแสบๆ คันๆ อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ท่านก็ไม่เคยแตะต้อง จอมพลถนอม อีกเลย นี่ท่านก็ถือเป็นธรรมเนียมว่าจะไม่เหยียบคนที่ล้ม หรือรุกไล่คู่ต่อสู้ใน “จนมุม”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงบอกความลับกับผู้เขียนไว้ว่า ทหารนั้นถ้าทำให้เห็นเป็นสิ่งขบขัน ทหารก็จะดูไม่น่ากลัวเท่าไรนัก และในช่วงที่ทหารบ้าอำนาจก็ต้องอย่าไป “ขวางเรือ” แต่ให้เอาล่องเรือตามดูอยู่ห่างๆ เพื่อรอให้นายทหารคนนั้นๆ หมดอำนาจไปก่อน เพราะทหารเมื่อหมดอำนาจโดยการพ้นจากตำแหน่งบังคับสั่งการนั้นไปแล้ว ก็จะไม่มีฤทธิ์เดชอะไรให้กลัวอีกต่อไป ซึ่งท่านได้อ้างสุภาษิตฝรั่งที่ว่า “Old Soldiers never die.” ที่แปลเป็นไทยว่า “ทหารเก่าไม่มีวันตาย(ก็ตามที)” แต่ท่านได้เติมท้ายอีกนิดว่า “But They had faded away.” แปลได้ว่า “แต่พวกเขาก็(จะ)จาง....หาย(ไปเอง)”
ถ้าจะมาใช้กับทหารสมัยนี้ ก็รอให้บิ๊กตู่หมดอำนาจไปก่อนนั่นแล
*******************************
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
June 27, 2020 at 08:33AM
https://ift.tt/2BheJDj
เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (6) - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (6) - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment