Search

รู้จัก “ขุนพลทักษิณ” กับบทบาทใหม่ “ผู้ก่อการ” กลุ่ม CARE - บีบีซีไทย

faca.prelol.com

อดีตนักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ซึ่งถูกยกให้เป็น "ขุนพล" นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมเปิดตัวกลุ่ม CARE ในวันที่ 17 มิ.ย. หลังใช้เวลาเกือบ 1 เดือนในการรวบรวมผู้ร่วมอุดมการณ์

วอยซ์ สเปซ (Voice Space) อีเวนท์ ฮอลล์ ของวอยซ์ ทีวี ธุรกิจในความดูแลของ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายอดีตนายกฯ ถูกเลือกใช้เป็นสถานที่เปิดตัวของกลุ่ม CARE ซึ่งในภาวะปกติสามารถจุคนได้เต็มพื้นที่ 1 พันคน แต่งานนี้จำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 200 คนเพื่อ "เว้นระยะห่างทางกายภาพ"

"150 วันอันตราย : ทางเลือกทางรอด" คือ "ญัตติสาธารณะแรก" ที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มนี้เตรียมโยนออกสู่สาธารณะ หลังประเทศไทยตกอยู่ใต้ "ภาวะฉุกเฉิน" มากว่า 2 เดือนนับจากรัฐบาลประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เมื่อ 26 มี.ค.

ก่อนความเคลื่อนไหวจะปรากฏชัด ทักษิณกล่าวยอมรับกับบีบีซีไทยช่วงปลายเดือน พ.ค. ว่ามีอดีต ส.ส. มาแจ้งข่าวให้ทราบ แต่ออกตัวว่า "ไม่เกี่ยว" และ "ขอให้กำลังใจมากกว่า"

ขณะที่อดีตนักการเมืองสังกัด ทรท. ที่อยู่นอกขบวนการ CARE วิเคราะห์ว่าการเปิดหน้าของ "3 สหาย" ซึ่งเป็นอดีตคนเดือนตุลา และ "1 เสี่ย" ในฐานะผู้ก่อการและผู้ประสานงานกลุ่ม CARE เป็นการ "รวมพลคนในบ้านแบบครบทุกสาย" ทั้งสาย "นายใหญ่-นายหญิง-น้องสาว" ต่างจากปฏิบัติการ "แตกพรรค" ในช่วงก่อนเลือกตั้ง 2562 ที่มีหลายคำสั่ง-หลายทีม จนเกิดสารพัดพรรคทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคเพื่อธรรม (พธ.) และพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

บีบีซีไทยชวนทำความรู้จักอดีตนักการเมืองทั้ง 4 คน ซึ่งในยุครุ่งเรืองของรัฐบาล ทรท. คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น "วงใน" คอยให้ข้อคิดเมื่อผู้นำต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ส่วนในยุคตกต่ำ-ทักษิณตกที่นั่ง "ผู้นำพเนจร" ขุนพลบางส่วนประกาศวางมือ แต่ไม่เคยเว้นวรรคความสนใจจากการเมือง

หากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คือ "จุดจบภาคแรก" ของทักษิณกับพวก การเกิดขึ้นของกลุ่ม CARE อาจเป็น "จุดเริ่มต้นภาคต่อไป" ของพวกเขา ซึ่งนอกจากอดีต "ขุนพล" ของทักษิณ ยังมี "คนหน้าใหม่" เข้าร่วมภายใต้คำขวัญ "คิด เคลื่อน ไทย"

ภูมิธรรม เวชยชัย

ภูมิธรรม เวชยชัย วัย 66 ปี เคยเรืองอำนาจสูงสุดในฐานะ รมช.คมนาคม ของรัฐบาลทักษิณ 2 พ่วงสถานะรองเลขาธิการ ทรท. "พรรค 377 เสียง"

7 วันหลังรัฐประหารปี 2549 เขาถูกตามตัวไปพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่บ้านเกษะโกมล เพื่อตรวจสอบท่าทีทางการเมืองเพราะ "ติดใจบทบาทในอนาคต"

หนึ่งในคำถามที่หัวหน้าคณะรัฐประหารโยนใส่อดีต รมต. รายนี้คือ "จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกไหม" และ "ถ้าทักษิณไม่เลิกล่ะ"

"ผมคงต้องคิดอีกที ถ้านายกฯ ทักษิณกลับมาแล้วเล่นการเมือง ผมอาจจะช่วยท่าน หรืออยู่เฉย ๆ แต่จะให้ผมไปช่วยคนอื่นมาสู้กับนายกฯ ทักษิณ ผมคงไม่ช่วย ไม่เอา" ภูมิธรรมตอบ และบอกเล่าผ่านหนังสือ "ในคืนยะเยือก 7 ขุนพลทักษิณภายใต้ปฏิบัติการลับลวงพราง"

เขายังย้ำกับนายพล คปค. ด้วยว่า ถ้าจะใช้ให้มารบ-มาให้ร้ายทักษิณ เขาไม่ทำ เพราะที่ผ่านมา ทักษิณปฏิบัติกับเขาอย่างดียิ่ง

อย่างไรก็ตามภูมิธรรมไม่ได้ติดต่อ "นายเก่า" อยู่นานนับจากถูกโค่นอำนาจ "มีคนพยายามจะให้ผมไปเจอท่านที่ลอนดอน แต่ผมไม่ไป บอกแค่ว่ามีอะไรสั่งมา ถ้าทำได้ผมก็จะทำ แต่นายกฯ ยอมรับสภาพ ก็โอเค.. จบ"

ชื่ออดีตขุนพลทักษิณหายไปจากพื้นที่สังคมการเมืองไทย กว่าจะรู้ตัวอีกที ภูมิธรรมก็ลาออกจากตำแหน่ง กก.บห.ทรท. ไปเสียแล้ว แต่นั่นไม่ทำให้เขารอดพ้นจากการถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังมีคำสั่งยุบ ทรท. เมื่อ 31 พ.ค. 2550

หลังพ้นโทษแบนการเมือง ภูมิธรรมหวนคืนวงการอีกครั้ง ทว่าไม่มีตำแหน่งในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีแต่เก้าอี้เลขาธิการ พท. รองก้นในช่วงเวลาอันยากลำบากทางการเมืองจากการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ช่วงปี 2556-2557 ก่อนลงเอยด้วยรัฐประหารอีกครั้ง และผลักให้บรรดานักเลือกตั้งต้อง "เว้นวรรค" การเมืองถึง 5 ปีตามระยะเวลาการครองอำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ตำแหน่งที่เหลืออยู่ในเวลานี้คือ ที่ปรึกษาหัวหน้า พท. และที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภา ทว่าบทบาทสำคัญล่าสุดของภูมิธรรมคือการเป็น "ผู้เปิดประเด็น" ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม CARE โดยระบุว่าพวกเขาทั้ง 4 คน "เป็นเพื่อนสนิทกันมานาน เคยร่วมคิดและทำอะไรกันมาตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่ม ๆ ครั้งนี้อยากช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ"

"คาดหวังให้การรวมกันของพวกเราสามารถขยายตัวเติบใหญ่ขี้น และสามารถพัฒนาไปเป็นกลไกหรือองคาพยพในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีกว่า" ภูมิธรรมประกาศผ่านกระดานข้อความในเฟซบุ๊กของเขา

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

อดีต "ทหารป่า" วัย 65 ปี เคยดำรง 3 ตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลทักษิณ 1-2 ทั้งรองนายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน ทว่าตำแหน่งที่ทำให้อำนาจผ่านมือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มากที่สุด หนีไม่พ้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรีคู่ใจทักษิณ และเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนพลัดหล่นจากอำนาจพร้อมชายที่เขาเรียกว่า "ท่าน" ทุกคำ

หมอมิ้งเคยเปรียบเปรยความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับเลขาธิการนายกฯ ว่าเป็นเสมือน "พ่อครัวหัวป่าก์" กับ "คนจ่ายตลาด" แต่ละวันต้องคิดคร่าว ๆ ว่า "ท่าน" จะทำกับข้าวอะไร จากนั้นก็ไปจัดหาวัตถุดิบมา ซึ่งไม่ใช่การครอบงำ แต่คือการเดาใจและต้องเตรียมให้แม่นให้เร็ว เพราะทักษิณเป็นคนคิดไวทำไว

ส่วนระดับความไว้วางใจ พิสูจน์ผ่านการได้รับมอบหมายให้ถือ "เอกสารต้านปฏิวัติ" ในช่วงที่ข่าวลือปฏิวัติโชยฉุน โดยเอกสารมีเพียง 3 ชุด อยู่ในมือ 3 คน ได้แก่ ทักษิณ, พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม และ นพ.พรหมินทร์

เมื่อวันเปลี่ยนชีวิตนายกฯ คนที่ 23 มาถึง หมอมิ้งเป็น "ผู้รับคำสั่งข้ามทวีป" จากทักษิณ ซึ่งไปร่วมประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาคอยหาข่าว-ส่งข่าวตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 19 ก.ย. 2549 ฝ่าเข้าทำเนียบรัฐบาลช่วงหัวค่ำเพื่อรอรับ "เอกสารลับ" หวังปลด ผบ.ทบ. และชิงประกาศภาวะฉุกเฉินก่อนทหารยึดอำนาจ และยังเป็นคน "ชักธงสู้" ด้วยการตั้ง "กองบัญชาการต้านปฏิวัติ" ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส. - ชื่อในขณะนั้น)

แต่สุดท้ายต้องประสบความพ่ายแพ้ แผนต้านปฏิวัติของฝ่ายทักษิณถูกฉีกพร้อมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทั้งรักษาการนายกฯ, เลขาธิการนายกฯ และน้องเขยนายกฯ อย่างสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ถูกรวบตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) อันเป็น "ศูนย์กลางของการปฏิบัติการรัฐประหาร"

ท่ามกลางภาวะที่รัฏฐาธิปัตย์ยังไม่รู้ว่าทักษิณจะ "สู้" หรือ "หมอบ" จากแดนไกล นพ.พรหมินทร์-พล.ต.อ.ชิดชัยตกเป็น "เชลย" ถูกกักบริเวณภายในบ้านพักของศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) นาน 12 วันก่อนได้รับอิสรภาพ

หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นพ.พรหมินทร์อีก โดยเฉพาะเมื่อถูกสั่งเพิกถอนสิทธิการเมือง 5 ปี เขากลับไปรับบทเก่าก่อนเข้าสู่โลกการเมือง นั่นคือ ทำงานบริหารกับธุรกิจของตระกูลชินวัตร ทั้งที่โรงพยาบาลพระราม 9 และมหาวิทยาลัยชินวัตร โดยนั่งเก้าอี้อุปนายกสมาคมและประธานกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยชินวัตรจนถึงปัจจุบัน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

หากการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศครั้งสุดท้ายของทักษิณเกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ทุกความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นภายในโรงแรมแกรนด์ไฮแอท นิวยอร์ก ที่พักของทักษิณ จึงอยู่ในสายตาของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งร่วมคณะไปด้วย

ภาพที่หมอเลี้ยบ "ไม่เคยลืม" เกิดขึ้นราว 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ทักษิณนั่งอยู่ที่เก้าอี้ภายในห้องสูทของโรงแรม ใช้โทรศัพท์พูดและอ่านเอกสารบนโต๊ะจนจบ แต่พอเช็กกลับมาไทยจึงทราบว่าการกระจายเสียงไปไม่จบ ถูกตัดสัญญาณ นั่นคือ "รู้ว่ามีปัญหา" ก่อนรู้พร้อมกับนายกฯ ว่า "ทหารเข้ายึดกุมสถานการณ์ในกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมดแล้ว"

แผนปาฐกถาบนเวทียูเอ็นตามกำหนดการเดิมถูกยกเลิกด้วย "สถานะไม่ชัดเจน" ของทักษิณ มีเพียงบทสนทนาไม่กี่คำบนโต๊ะอาหารมื้อสุดท้ายของวันว่าด้วยแผนใช้ชีวิตในต่างแดน ท่ามกลางปฏิบัติการ "เช็กบิล" เครือข่ายทักษิณในประเทศไทย

ไม่มีคำบอกลาใด ๆ ต่างฝ่ายต่างแยกย้าย "อดีตผู้นำหมายเลข 1" บินไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วน "กระบอกเสียงรัฐบาล" หลบไปพักกับบุตรชายที่สหรัฐฯ 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด

หมอเลี้ยบวางมือทางการเมือง ก่อนกลับไปทำธุรกิจของครอบครัวที่ห่างร้างมานาน ทว่าโชคชะตาคล้ายเล่นตลกเมื่อตกที่นั่ง "ผู้รอดชีวิต" จากการถูกเพิกถอนสิทธิการเมือง เพราะไม่มีตำแหน่งใน ทรท. แบบนักการเมืองร่วมค่าย 111 คน ทำให้เขาต้องหวนคืนการเมืองในเดือน ก.ค. 2550 เพื่อเป็นหัวหอกรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นในบรรยากาศหลังรัฐประหาร ก่อนขับเคลื่อน "พรรคทายาท" ของทักษิณ มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคอันดับ 1 ที่ชื่อพรรคพลังประชาชน (พปช.) และเป็นผู้จัดการรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

นพ.สุรพงษ์เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.คลัง อยู่ได้ไม่ถึงปี ก็ประกาศวางมือทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อสมัคร "ตกเก้าอี้" ด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดี "ชิมไปบ่นไป" ก่อนถูกเพื่อนร่วมพรรคหักซ้ำด้วยการหันไปเชิด สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่แทน เขาจึงยอม "ถอย" และประกาศไม่รับตำแหน่งใด ๆ ใน "รัฐบาลน้องเขย" ก่อนต้องเว้นวรรคการเมืองจริง ๆ 5 ปีตามรอยชาว ทรท. ไปเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ พปช. พร้อมตัดสิทธิ กก.บห. ทั้ง 37 คน

แม้แจ้งเกิด-เติบโตทางการเมืองในยุครุ่งเรืองของระบอบทักษิณ แต่หมอเลี้ยบยืนยันว่าทักษิณไม่ใช่ "เงื่อนไข" ในการตัดสินใจ

"ใครจะชอบคุยกับคุณทักษิณ ใครจะชอบอ้าง ผมไม่ทำ เพราะไม่เห็นด้วยกับใครก็ตามที่พยายามดึงคุณทักษิณเข้ามาเสริมบารมีของตัวเอง" นพ.สุรพงษ์ระบุ

ในช่วงเป็นเสนาบดีของรัฐบาลทักษิณ 1 ทั้ง รมช.สาธารณสุข และ รมว.ไอซีที เขาอ้างว่าไปปรึกษานายกฯ น้อยมาก ยกเว้นเวลามีคนอ้างว่าสั่งอย่างนั้นอย่างนี้ "ผมจะไปถามว่าสั่งจริงหรือเปล่า ท่านก็บอกว่าไม่ได้สั่ง"

วิบากกรรมการเมืองของ นพ.สุรพงษ์เริ่มต้นขึ้นหลังหมดอำนาจ เขาต้องวิ่งขึ้น-ลงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อต่อสู้ 2 คดีสำคัญ

  • คดีตั้งบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ ศาลพิพากษาเมื่อ 4 ส.ค. 2559 สั่งจำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี พร้อมปรับ 2 หมื่นบาท
  • คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ปของครอบครัวทักษิณ ศาลพิพากษาเมื่อ 25 ส.ค. 2559 สั่งจำคุก 1 ปี พร้อมปรับ 2 หมื่นบาท ทำให้ นพ.สุรพงษ์ถูกคุมตัวไปนอนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่บัดนั้น ก่อนได้รับการพักโทษเมื่อ 4 ก.ค. 2560

ปัจจุบัน นพ.สุรพงษ์วัย 63 ปี ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดได้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 98(10) แต่ก็มีนักการเมืองทุกขั้ว-หลายค่าย-หลายกลุ่มแวะเวียนไปขอคำปรึกษาเขาอยู่เนือง ๆ ไม่เว้นกระทั่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข อดีตชาว ทรท. ปัจจุบันหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ตามหมอวัยเกษียณไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษเมื่อต้องรับมือกับไวรัสมรณะโควิด-19

พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล

ไม่บ่อยครั้งนักที่ พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล วัย 69 ปี จะเปิดปากแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อ ทั้ง ๆ ที่เขาถูกทักษิณยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 "เพื่อนตาย" ร่วมกับ สนธยา คุณปลื้ม และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา

ด้วยบุคลิกเป็นกันเอง รู้จักคนมากเพราะเป็นผู้อำนวยการพรรค ทรท. สมัยแรก ก่อนขยับเป็นรองเลขาธิการพรรค และมีฐานะทางเศรษฐกิจระดับ "เสี่ย" ด้านอสังหาริมทรัพย์ พ่วงด้วย "สถานะพิเศษ" ที่ทักษิณประกาศต่อสาธารณะเมื่อ เม.ย. 2548 ทำให้ใคร ๆ ก็อยากเป็น "เพื่อนเพ้ง" และ "น้องเฮีย" กันทั้งนั้น

พงษ์ศักดิ์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ร่วมวง ครม. เท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนร่วมก๊วนกอล์ฟของทักษิณในวันหยุดสุดสัปดาห์ตั้งแต่สมัยใช้ชีวิตที่ไทย จนหนีคดี-ลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน "เพื่อนตาย" รายนี้ก็ยังแวะไปออกรอบตีกอล์ฟ แวะไปเยี่ยมเยียน และส่งอาหารไทยให้หายคิดถึงบ้านอยู่บ่อย ๆ เพราะรู้สำนึกในการได้รับแต่งตั้งให้เป็น รมต. ถึง 3 กระทรวง ตั้งแต่ รมช.พาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.คมนาคม ชนิดที่เขาบอกว่า "ไม่เคยขอ"

"ผมก็สำนึกบุญคุณตรงนี้ ท่านตกระกำลำบาก ผมก็ไปเยี่ยมเยี่ยน... ทั้งหมดก็ไปให้กำลังใจ ไม่ได้อยู่ยาว ไปแค่ 3 วัน 7 วันแล้วก็กลับ แล้วอีกเดือนสองเดือนค่อยไปใหม่" เฮียเพ้งเคยกล่าวกับมติชน

เขาย้ำด้วยว่า ไม่กลัวว่าใครจะมาทำร้าย หรือดิสเครดิตเพียงเพราะเป็นเพื่อนกับทักษิณ "ผมไม่เคยคบใคร แล้วตอนมีปัญหา ผมไม่คบ หรือคบกับเขาตอนเขาดี ตอนมีปัญหาไม่คบ"

ในปี 2553 ชื่อพงษ์ศักดิ์ตกเป็นข่าวครึกโครม เมื่อศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกไปให้ข้อมูลหลัง "เสี่ย พ." ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็น "ท่อน้ำเลี้ยง" รายสำคัญของกลุ่มคนเสื้อแดง

พงษ์ศักดิ์ต้องกลับจากฮ่องกงอย่างรีบเร่ง ล้มแผนหนีร้อนเมืองไทยไปพักผ่อนที่ประเทศสหรัฐฯ เพื่อยืนยันกับ ศอฉ. ว่าเขาไม่เคยเป็น "หัวจ่าย" ให้แก่คนเสื้อแดงและไม่ลืมตำหนิการข่าวของรัฐไทยที่ไขว้เขวคลาดเคลื่อน

ทว่าอีก "ภารกิจลับ" ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือการได้รับคำร้องขอจาก "ผู้หวังดี" ให้ติดต่อทักษิณเพื่อขอให้ช่วยยุติปัญหาที่เมืองไทยในช่วงที่สถานการณ์การชุมนุมบนท้องถนนเริ่มเขม็งเกลียว ซึ่งพงษ์ศักดิ์ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงทักษิณจริง แต่เขาไม่ขอพูดรายละเอียด

หลังพ้นโทษแบนการเมือง 5 ปีพร้อม กก.บห.ทรท. รายอื่น ๆ พงษ์ศักดิ์สมัครเป็นสมาชิก พท. และได้รับแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงานใน "รัฐบาลน้องสาว"

ก่อนเลือกตั้ง 2562 เฮียเพ้งผู้รวยทั้งทรัพย์และสายสัมพันธ์มีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" สะท้อนผ่านคนใกล้ชิดของอาเฮียที่เข้าไปจัดแจงอยู่ที่ ทษช. แต่เมื่อเกิดเหตุ "แผ่นดินไหวการเมือง" ทำให้แผนแตกพรรคต้องผิดแผน พรรคเครือข่ายทักษิณต้องเพลี่ยงพล้ำเมื่อชนะเลือกตั้งแต่ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงหมดหน้าที่ของคนเบื้องหลัง

พงษ์ศักดิ์ประกาศวางมือการเมืองต่อหน้า ส.ส.พท. ในงานเลี้ยงครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 69 เมื่อ 5 ก.ค. 2562 โดยให้เหตุผลว่าอายุเยอะแล้ว และได้ทำการเมืองมานานพอสมควร จึงอยากหยุดเพื่อพักผ่อน

ทว่าผ่านไปไม่ถึงปี เมื่อ "3 สหาย" ต่อสายชวนไปร่วมพูดคุยวงเล็กรอบแรกที่สำนักงานย่าน ถ.วิภาวดีรังสิต เฮียเพ้งก็ยอมเปิดสำนักงานย่าน ถ.ประชาอุทิศ ของตัวเองให้ขบวนการ CARE กว่า 30 ชีวิตใช้สุมหัว-ระดมสมองในการประชุมนัดที่ 2 เมื่อ 26 พ.ค.

ทุกสายสัมพันธ์ที่ "เพื่อนตายทักษิณ" เคยสั่งสมไว้ ถูกนำออกมาใช้อีกครั้งในฐานะผู้ประสานงานและผู้ก่อการกลุ่ม CARE

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนเรียบเรียงจากหนังสือ "ในคืนยะเยือก 7 ขุนพลทักษิณภายใต้ปฏิบัติการลับลวงพราง" สำนักพิมพ์มติชน, 2552

Let's block ads! (Why?)



"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
June 13, 2020 at 11:30AM
https://ift.tt/3fgZVDd

รู้จัก “ขุนพลทักษิณ” กับบทบาทใหม่ “ผู้ก่อการ” กลุ่ม CARE - บีบีซีไทย
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2

Bagikan Berita Ini

0 Response to "รู้จัก “ขุนพลทักษิณ” กับบทบาทใหม่ “ผู้ก่อการ” กลุ่ม CARE - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.