ความไว้วางใจและความรับผิดชอบต่อสังคมสำคัญกว่าการรักษาระยะห่างทางสังคม
วันที่ 16 มิ.ย. 2563 เวลา 06:58 น.
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; santi_nida@yahoo.com
ในช่วงระยะเวลาที่มีการพูดถึงเรื่องการปรับตัวของสังคม ไม่เฉพาะสังคมไทยแต่รวมไปถึงสังคมโลก เข้าสู่ความเป็นปกติใหม่ทางสังคม (Social New Normal) ซึ่งครอบคลุมไปมากกว่าความเป็นปกติใหม่ทางเศรษฐกิจ (Economic New Normal) โดยเงื่อนไขสำคัญหนึ่งของความเป็นปกติใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมหรือทางเศรษฐกิจก็ตาม จะเน้นย้ำในเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการรักษาระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) แท้จริงแล้วเป็นเพียงปลายทาง และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับภัยพิบัติจากการระบาดของโรคเท่านั้น
การปรับตัวของสังคมมนุษย์เพื่อสร้างความมั่นคงน่าจะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมไปมากกว่าเพียงแค่การรักษาระยะห่างทางสังคม โดยเฉพาะถ้าจะคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ (National Security) พื้นฐานของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติที่จะต้องการการปฏิสัมพันธ์กันในสังคม ที่ใช้คำว่าต้องการเพราะไม่ได้หมายถึงว่าขาดไม่ได้ แต่ขาดแล้วไม่ชอบ รู้สึกอึดอัด ในทางเศรษฐศาสตร์จึงตีความว่า เมื่ออึดอัด ก็จะยินดีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา (คือว่ายอมจ่าย) การที่ต้องจำกัดพฤติกรรมโดยธรรมชาติของตัวเองของมนุษย์ย่อมทำให้มีการพัฒนาวิธีการเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการให้ได้ แต่ก็จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น
ให้เข้าใจง่ายๆ คือ มนุษย์ที่อยู่กันเป็นสังคมนั้น เดิมทีต้นทุนในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมีน้อย หรือไม่มีเลย หรือมีแต่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารกำลังทำให้ต้นทุนนั้นลดลงเรื่อย ๆ และเมื่อมีเหตุมารบกวนกระบวนการนั้นอย่างรุนแรง (Disruption) ก็เป็นเหตุให้ต้นทุนสังคมในส่วนนี้ต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทุกสังคมต้องเข้าสู่ขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าในที่สุดแล้วสภาวะของสังคมจะเป็นอย่างไร มีการคาดเดากันมากว่าจะเกิดแบบนั้นขึ้นเกิดแบบนี้ขึ้นซึ่งก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะเป็นอย่างไร หรือเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง คนโดยส่วนใหญ่ก็จะกลับไปมีพฤติกรรมเดิม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากโดยเฉพาะพฤติกรรมที่เป็น "ความอยาก" เช่น อยากหรือชอบเล่นพนัน ชอบความเสี่ยง ชอบเก็งกำไร หรือชอบซื้อหวย (ระหว่างที่มีการใช้ พรก ฉุกเฉิน ไม่ให้มีการรวมกลุ่มมั่วสุม ก็ยังมีการลักลอบจับกลุ่มกันเล่นการพนันอยู่ตลอด) อยากหรือชอบความขี้เกียจ คิดว่าไม่เป็นไร การระมัดระวังดูแลด้านความสะอาด สุขอนามัยก็เจือจางลง ฯลฯ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนเกิดเป็นความ "ปกติ (Normal)" จึงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย อาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน และมีต้นทุนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเข้าไปเกี่ยวข้อง
ในเมื่อสังคมมีความไม่แน่นอนว่าจะพัฒนาไปอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดอะไรบ้างนั้น มีข้อสังเกตว่า สังคมที่มีความใกล้ชิด มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เรียกว่ามี Social Trust ตั้งแต่ความเชื่อใจกันในระดับชุมชน (ก็จะทำให้การบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน หรือในระดับชุมชนเป็นไปด้วยดี มีความเสียหายน้อย) ไปจนถึงระดับชาติ ซึ่งเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในชาติกับผู้บริหาร (หรือผู้ใช้อำนาจรัฐ) ผู้นำประเทศ ถ้าประเทศใดสามารถสร้างความสัมพันธ์ (Bond) อันนี้ขึ้นมาได้ และมีความเข้มแข็ง การรับมือกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นก็ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กรณีตัวอย่างอาจจะเป็น เยอรมัน หรือนิวซีแลนด์) เช่นเดียวกันกับ สังคมที่มีความผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ในระดับสูงกว่า ก็จะสามารถดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับสังคมได้ดี โดยที่มีต้นทุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและต้นทุนทางสังคมต่ำกว่าสังคมหรือประเทศอื่น ๆ (กรณีตัวอย่างอาจจะเป็น ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน สำหรับการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19)
การสร้างความมั่นคงของชาติจึงปฏิเสธไม่ได้เลยที่จำเป็นจะต้องสร้าง 2 สิ่งนี้ให้เกิดขึ้นและบ่มเพาะให้มีความเข้มแข็งให้มากที่สุด ความสำเร็จของประเทศไทยที่ได้รับการชื่นชมอย่างมากทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศในการควบคุมการระบาดของโรคตามมาตรการด้านสาธารณสุข ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากการที่คนในประเทศมีความเชื่อ มีความไว้เนื้อเชื่อใจคนที่ทำงานทางด้านสาธารณสุข (ประสิทธิภาพของการกำหนดมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรคสูงขึ้นมากเมื่อมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เข้าไปร่วมพิจารณา ตัดสินใจในการดำเนินมาตรการในการควบคุมโรค) พลังที่เกิดขึ้นจากการมีความไว้วางใจทำให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางของมาตรการที่กำหนด และยังเหนี่ยวนำให้เกิดการขับเคลื่อนของกลุ่มคนในระดับย่อยลงมาเป็นกลุ่มที่เล็กลงในระดับชุมชน เกิดกิจกรรมทางสังคมที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือกันเองในกลุ่มเมื่อการช่วยเหลือจากภาครัฐมีไม่เพียงพอ เข้าไม่ถึง หรือขาดตกบกพร่องไป คนในสังคมมีพฤติกรรมในลักษณะที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น (คำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้อื่นและสังคมมากขึ้นจากการกระทำของตน เห็นได้จากพฤติกรรมหลายอย่างที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมลดลงไปในช่วงที่มีการใช้มาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายของคน)
ในขณะที่บางสังคม บางประเทศ ไม่สามารถสร้างให้เกิดความไว้วางใจในสังคมได้ ก็จะเกิดความกลัว ความหวาดระแวงระหว่างกันของคนในสังคม เกิดการแบ่งแยกของคน มีความขัดแย้ง และลุกลามไปเป็นความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเพียงเรื่องมาตรการหรือข้อปฏิบัติในการเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัย แต่กลับลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ จะเห็นได้ว่า การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ในสังคม โดยเฉพาะความไว้วางใจระหว่างคนในวัยที่แตกต่างกัน ไม่ให้เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างวัยในช่วงที่จะมีการใช้มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่เพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจโดยการกู้ยืมของภาครัฐที่จะก่อเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งคนในวัยที่มีอายุน้อยจะเกิดความรู้สึกว่าเป็นการก่อหนี้ที่เขาเหล่านั้นจะต้องแบกรับภาระในอนาคตไปอีกเป็นเวลานาน หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการดึงเอาทรัพยากรในอนาคตมาใช้เพื่อประโยชน์ของคนในรุ่นปัจจุบัน คนในรุ่นต่อ ๆ ไป (Next Generation) อาจจะมีทรัพยากรน้อยลง ดังนั้น การดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ จึงจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง สร้างความไว้เนื้อเชื้อใจโดยการสร้างความโปร่งใสของการดำเนินมาตรการให้ได้ มิฉะนั้น ประเด็นความขัดแย้งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นก็อาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ แก้ไขได้ยาก และเป็นต้นทุนทางสังคมที่สูง
ถ้าจะมองแนวทางในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อการวางแผนรองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคด้วยการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือแทนที่จะปล่อยให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของโรคมาเป็นปัจจัยหรือเงื่อนไขในการกำหนดรูปแบบ ลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เราอาจจะเปลี่ยนแนวคิดเป็นการออกแบบสังคม เศรษฐกิจที่เราปรารถนาอยากให้เป็น การคิดเชิงออกแบบที่จะสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน คนในสังคมต่างรู้หน้าที่ รู้จักความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ก็จะทำให้ต้นทุนของการจำกัด หรือการระงับการระบาดของโรค หรือการป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตมีต้นทุนที่ต่ำลงไปมาก
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะมีการแสดงให้ประชาชนในประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนด้านสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นในวงกว้างต่อคนจำนวนมาก ซึ่งรัฐจะมีทรัพยากร และบริหารจัดการได้ดีถ้าประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจ พร้อมใจกันทำหน้าที่ของประชาชน มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการชำระภาษี เพื่อให้รัฐมีเครื่องมือในการรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐเองก็ต้องมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจได้ด้วยการทำให้เกิดความโปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณ ถ้าเกิดขึ้นได้จริง เชื่อแน่ว่าฐานภาษีที่ใช้เพื่อการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐก็จะโตขึ้น รัฐมีรายได้มากขึ้นด้วยความเต็มใจจะจ่ายภาษีของประชาชนเองเพราะเขาแน่ใจได้ว่าเมื่อมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น รัฐจะสามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ รัฐเองก็จะมีทรัพยากรทางการคลังเพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชน
ดังนั้น คงจะมีอีกหลายมิติที่เราจะสามารถใช้โอกาสจากการระบาดของโรคที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยการออกแบบชุดความคิดให้เกิดความเชื่อใจกันในสังคม (Social Trust) และการตระหนักรู้และต่อความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Resposibility) ที่จะเป็นทรัพย์สินที่มีค่าอย่างมากทางเศรษฐกิจในการก้าวสู่การเป็นสังคมพัฒนาอย่างยั่งยืน
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
June 16, 2020 at 07:03AM
https://ift.tt/3hwiCVu
ความไว้วางใจและความรับผิดชอบต่อสังคมสำคัญกว่าการรักษาระยะห่างทางสังคม - โพสต์ทูเดย์
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ความไว้วางใจและความรับผิดชอบต่อสังคมสำคัญกว่าการรักษาระยะห่างทางสังคม - โพสต์ทูเดย์"
Post a Comment