ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร |
เผยแพร่ |
นักอ่านตัวจริง ไม่ว่าเก่าหรือไม่ ไม่มีใครไม่รู้จัก “ส.พลายน้อย” นามปากกาของ สมบัติ พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2553 ด้วยผลงานมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปในสังคม วัฒนธรรม ประเพณีที่ผ่านการค้นคว้าอย่างลุ่มลึก
นับเป็น “นักปราชญ์” คนสำคัญของไทยที่ได้รับการยกย่องเสมอมา ไม่เพียงจากตัวอักษรที่ร้อยเรียงบนหน้ากระดาษ ความรู้ที่ถ่ายทอดลงในทุกบรรทัด หากแต่ยังเป็นผู้สร้างสรรค์งานเขียนอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่ปรากฏในคอลัมน์ “หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา” กว่า 200 ตอนในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันให้ผู้อ่านเพลินใจไปกับเรื่องราวหลากหลายและลึกซึ้งเกี่ยวกับหนุมานในวัฒนธรรมต่างๆ ทุกฉบับวันอาทิตย์ กระทั่งต้องยุติการเขียนชั่วคราวเนื่องจากปัญหาสุขภาพ
วันนี้ ส.พลายน้อย ในวัย 91 ปียังคงมีรอยยิ้มสดใส บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างสนุกสนาน แม้เพิ่งกลับจากโรงพยาบาลด้วยโรคประจำตัวอย่างเบาหวานที่อยู่ร่วมกันมานานจนคุ้นเคย
“กินได้ปกติ แต่ลดสิ่งที่แสลงกับโรคของเรา”
คือคำตอบสั้นๆ ของ ส.พลายน้อย ขณะนั่งบนเก้าอี้ประจำบนชั้น 1 ของบ้านซึ่งตั้งอยู่ในย่านวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี รายล้อมด้วยตู้ไม้ขนาดใหญ่อัดแน่นด้วยหนังสือนับพันเล่ม ทั้งผลงานจากปลายปากกาของตัวเองและหนังสือดีๆ สำหรับค้นคว้า บนโต๊ะใกล้ๆ กัน ยังมีปึกกระดาษเขียนด้วย “ลายมือ” อย่างประณีตวางเรียงอยู่ เป็นต้นฉบับเก่าเรื่อง “วังท่าพระ” ที่วันนี้เจ้าตัวรับว่า “เขียนแล้วลืม” จำไม่ได้ว่าเขียนไปตีพิมพ์หรือรวมเล่มที่ไหน แต่ที่กล่าวอย่างหนักแน่น ดวงตาเป็นประกาย คือประโยคที่ว่า
“ผมก็ยังอยากเขียนอะไรอีกนะ (ยิ้ม)”
แม้ในยุคที่สิ่งพิมพ์ลดบทบาท หลัง “ออนไลน์” เข้าช่วงชิงพื้นที่ ส.พลายน้อยยังบอกว่า “ทุกวันนี้ พอนึกได้นิดๆ หน่อยๆ ก็พยายามจะเขียนความจำอะไรออกมา” ดังเช่นต้นฉบับชิ้นล่าสุดเตรียมตีพิมพ์โดยใช้ชื่อว่า “นอนโรงพยาบาลนานกว่าห้าเดือน” ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ครั้งนอนพักรักษาตัวอย่างยาวนานเกือบครึ่งปี
“เล่มนี้ไม่ถึงกับเป็นผลงานอะไรหรอก ไม่ได้ประสงค์อะไร ประสงค์แค่ว่าขอบคุณหมอ เพราะนึกว่าจะตาย เลยเขียนขอบคุณหมอและท่านที่อุปถัมภ์ ยังมีชื่อคุณขรรค์ชัย บุนปาน (ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด) ด้วย ไม่รู้จะว่าเราหรือเปล่า (หัวเราะ) ท่านคอยช่วยเหลือตลอด”
แม้เป็น “ผู้รู้” ตัวจริงที่คนรุ่นใหม่ๆ ยังต้องพึ่งพิงข้อมูลความรู้อยู่เสมอ แต่ทุกวันนี้ ส.พลายน้อย ยังคงอ่าน “หนังสือ” ใหม่ๆ อยู่ตลอด ไม่เคยทิ้ง
“ทุกวันนี้ยังอ่านหนังสืออยู่ อย่างวรรณคดีเก่าๆ หรือคนเขาพิมพ์อะไรใหม่ๆ มาให้ก็อ่าน พวกสารคดีต่างๆ” กล่าวพร้อมหยิบหนังสือที่มีผู้นำมาให้อ่านออกมาให้ได้ชม
ส.พลายน้อย เพิ่มเติมว่า แม้บางครั้งไม่ได้ “อ่าน” แต่เพียงแค่ได้มอง ได้หยิบจับก็มีความสุขแล้ว
“หนังสือบางครั้งไม่ได้อ่าน เพียงแต่มอง เพียงแต่ได้เห็น ได้หยิบ ก็มีความสุขแล้ว เพราะเราอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่เด็กและได้ดีเพราะหนังสือ”
ย้อนไปในอดีต นายสมบัติ พลายน้อย เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์และเอกสารสิ่งพิมพ์ กองส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และเป็นบรรณาธิการวารสารวัฒนธรรมไทย เรียกได้ว่า อยู่กับหนังสือและสื่อที่เผยแพร่ความรู้ตลอดมา กระทั่งเมื่อ พ.ศ.2528 ก่อนเกษียณอายุราชการ 2 ปี ตัดสินใจลาออก เพื่อเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว
สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย, เล่าเรื่องบางกอก, เล่าเรื่องพม่ารามัญ, สารคดีน่ารู้สารพัดนึก, คนดังในอดีต, พระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่, เกร็ดภาษาหนังสือไทย (ฉบับปรับปรุง), เกิดครั้งพุทธกาล, ครัวไทย, พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์ ฯลฯ
เป็นเพียงส่วนหนึ่งอันน้อยนิดของผลงานกว่า 100 เล่มตลอดหลายทศวรรษ
ถามถึงผลงานที่ภูมิใจที่สุดเมื่อมองกลับไป ส.พลายน้อย ใช้เวลานึกไม่นาน
ก่อนตอบว่า
“พฤกษนิยาย เทวนิยาย อมนุษยนิยาย สัตวนิยาย ให้เขียนใหม่ก็เขียนไม่ได้แล้ว เพราะต้องค้นคว้ามาก”
อีกชุดที่นึกถึงคือ “พุทธประวัติกับเกร็ดครั้งพุทธกาลและพระเจ้าอโศก ครบเลย ประวัติพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ (ยิ้ม)”
แน่นอนว่า คนหนึ่งคน กว่าจะเขียนหนังสือมากมายจนเป็นที่ยอมรับ ย่อมถูกหล่อหลอมจากบางสิ่ง ไม่ว่าประสบการณ์ชีวิต ความทรงจำ รวมถึงสิ่งที่ได้ “อ่าน” สะสมความรู้และทักษะเชิงวรรณศิลป์
“สมัยเด็กๆ มีนิสัยอยากรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เคยอ่านหนังสือที่คนอื่นเขา ไม่อ่าน สมัยสงคราม ชีวประวัติผู้นำประเทศต่างๆ ผมชอบอ่าน หนังสือที่ชอบ ที่อ่าน อย่างหนึ่งคือ เกิดจากครูแนะนำให้อ่านว่ามีประโยชน์อย่างไร อย่างสามก๊ก ไม่มีใครอ่านมาก แต่ผมอ่าน 3 จบ จนครูบอก ไม่มีคนคบ (หัวเราะ) เพราะเขาบอกว่า อ่านสามก๊กหลายเที่ยว คบไม่ได้ ผมอ่านหมดแหละ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สามก๊กของยาขอบ รวมถึงของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ (สามก๊กฉบับนายทุน) ใครเขียนเรื่องเกี่ยวกับสามก๊ก ผมอ่านหมด”
วันนี้ หนังสือของ ส.พลายน้อย อาจเป็น “เล่มโปรด” ของใครหลายคนที่มีความสุขกับการอ่านซ้ำอย่างไม่รู้เบื่อ ส่วนนักปราชญ์ท่านนี้ก็มีเล่มโปรดเช่นกัน
“นอกจากสามก๊กแล้ว ที่อ่านหลายๆ เที่ยว คือ นิทานเวตาล ของ นมส. เพราะอยากรู้สำนวน การใช้ภาษา และอ่านเพื่อหาความรู้”
นอกจากหนังสือ ยังติดตามข่าวสารผ่านหน้าจอโทรทัศน์อยู่เสมอ
ไม่มีตกข่าว
“ดูโทรทัศน์เพื่อให้รู้ว่าสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร ดูมวยก็ไม่ได้ดูเปล่าๆ ดูว่าคนไหนมีความสามารถ คนไหนโง่ คนไหนตั้งใจชก”
ลึกซึ้งละเอียดอ่อนสมเป็น ส.พลายน้อย ผู้ซึ่งเคยคลุกคลีกล้องทีวีมาตั้งแต่วัยหนุ่ม โดยเคยได้รับทุนอบรมการจัดรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาที่ N.H.K. ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังมีภาพถ่ายเก่าสีขาวดำติดอยู่บนผนังบ้าน แม้เริ่มซีดจางตามกาลเวลา แต่ยังแจ่มชัดในความทรงจำ
“ตอนนั้นกำลังฟิตเลย” กล่าวพลางหัวเราะก่อนคุยถึงบรรยากาศการทำงานในวัยหนุ่มผ่านภาพนิ่งที่ราวกับเคลื่อนไหวไปตามคำบอกเล่าโดยเจ้าของภาพ
ถัดไป ยังมีภาพถ่ายของชายอีกคน ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในชีวิต ส.พลายน้อย นั่นคือ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร หรือ นายตำรา ณ เมืองใต้ นักปราชญ์ด้านภาษาและวรรณคดีไทยที่เด็กชายสมบัติ พลายน้อย เคยสมัครเรียนวิชาการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ทางไปรษณีย์กับท่านตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมที่อยุธยาวิทยาลัย กระทั่งต่อมายังเป็นผู้ชักชวนให้ทำงานด้านวารสารของกระทรวงศึกษาธิการหลายฉบับ
“เหมือนท่านเป็นพ่ออีกคน ให้คำสั่งสอน ช่วยเหลือเกื้อกูล เสียดาย ไม่มีใครนึกถึง ไม่ได้ยกย่องท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ ถามดู เดี๋ยวนี้ไม่มีคนรู้จัก เป็นรุ่นเก๋า ผมถึงบอกไง ที่บอก นักเขียนไม่มีวันตายน่ะ เดี๋ยวก็ตาย (หัวเราะ)”
พูดถึงภาษาและวรรณคดี ส.พลายน้อย นึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเคยไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้ฟังเป็นนักศึกษาเอกภาษาไทย
“ผมถามว่าเคยอ่านพระอภัยมณีไหม เขาบอก ไม่เคย อ้าวแล้วกัน! ทำไมเอกภาษาไทยไม่อ่านวรรณคดีไทย มันก็หมด จะเป็นเอกไปได้อย่างไร”
อีกประเด็นไม่ถามไม่ได้ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่มีคำเชิดชูเกียรติตอนหนึ่งว่า
“ชีวิตประจำวันของ ส.พลายน้อย อยู่กับการอ่านหนังสือและการเขียนหนังสือราวกับเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ จึงกล่าวได้ว่า ส.พลายน้อย ได้อุทิศตนเป็นผู้อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม และเผยแพร่ ภูมิปัญญาไทยด้วยผลงานสารคดีที่มีวรรณศิลป์อันมีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย”
มีความเห็นอย่างไรกับปมไฟเขียว “ถอดถอน” ศิลปินแห่งชาติได้ หากมีความประพฤติเสื่อมเสีย
ส.พลายน้อย ตอบอย่างรวดเร็ว พร้อมหยิบยกประสบการณ์ส่วนตัวมาให้แง่คิด
“ผมเคยเจอกับตัวเอง ผมเขียนประวัติยาขอบ กรรมการส่วนใหญ่ให้เป็นหนังสือที่ดีมาก แต่มีอยู่คนหนึ่ง บอกว่า เอ๊ะ! ไปสนับสนุนยาขอบทำไม
“ยาขอบมีเมียหลายคน ผมไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่พอรู้ก็นึกในใจว่า มันเกี่ยวอะไรกัน นั่นมันเรื่องส่วนตัวของเขา การที่เรายกย่อง คือการเขียนหนังสือดี เรายกย่องคนทำอะไรดีๆ ไม่ใช่ยกย่องความประพฤติ และอีกอย่างหนึ่ง ความประพฤติของเขาก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเสียหาย”
ศิลปินแห่งชาติบางคนก็กินเหล้า เมา (หัวเราะ) งานไม่มีเลย รายได้พอกินแล้ว ไม่เดือดร้อนอะไรแล้ว แต่ผมไม่ได้คิดในแง่นั้น ผมเขียนมาตลอด เราเขียนด้วยใจชอบ
ถึงเป็นศิลปินแห่งชาติหรือไม่เป็นก็เขียนเหมือนเดิม(ยิ้ม)
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
June 12, 2020 at 05:34PM
https://ift.tt/2UCHLnj
เปิดตู้หนังสือ 'ส.พลายน้อย' 91 ปี ของชีวิต 'ผมยังอยากเขียนอะไรอีกเยอะ' - มติชน
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เปิดตู้หนังสือ 'ส.พลายน้อย' 91 ปี ของชีวิต 'ผมยังอยากเขียนอะไรอีกเยอะ' - มติชน"
Post a Comment