เมื่อก่อนตนชอบเอาเงินไปโรงเรียนครั้งละมากๆ แต่เพื่อนมีเงินไม่มาก ด้วยความมีเงินมากกว่าจะชอบเลี้ยงไอศกรีม เลี้ยงขนมเพื่อนแล้วให้นำพระจากบ้านมาให้ บางคนก็ไปหยิบมาจากหิ้งพระ จากในตู้ จำได้ว่าบางองค์เช่ามา 1 บาท หรือแค่ 1 สลึง มีวันหนึ่งซื้อพระเยอะมาก 10 สลึง หรือประมาณ 2.50 บาท เมื่อกลับถึงบ้านจะเอามาตรวจดู รอพี่ชายมาดูว่าเป็นพระแท้ไหม ส่วนใหญ่จะเป็นพระวัดป่าพระเกจิ สมัยก่อนจะไม่ค่อยมีราคา แต่ตนชอบมีความสุขก็พยายามเรียนรู้ลงมือไป
จากนั้น เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดบางแม่ม่าย จ.สุพรรณฯ ได้ไปเรียนต่อระดับมัธยมที่กรุงเทพฯ สอบเข้าโรงเรียนวัดราชบพิธ ช่วงนี้ยิ่งทำให้เริ่มชอบพระมากขึ้น เล่นพระมาก ใช้คำว่านิยมพระเลยดีกว่า เพราะโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นเหมือนใจกลางสนามพระ สมัยนั้นจะมีที่วัดราชนัดดาด้วย ส่วนท่าพระจันทร์ยังมีไม่มาก ยังเป็นสนามพระไม่ค่อยบูม โดยช่วงสายๆ พี่จะขับรถมาทำงานมาเช่าพระ ส่วนตนเรียนรอบเช้ากับรอบบ่ายบางวันนั่งรถมากับพี่ ซึ่งพี่แวะส่งก่อนไปวัดราชนัดดาระหว่างทางได้นั่งคุยกันเรื่องพระ
ช่วงมัธยมเริ่มรู้จักพระมากแล้วทำให้เห็นว่าความพยายาม หมั่นเพียร เรียนรู้และลงมือทำนั้นเร่ิมประสบความสำเร็จบ้างแล้ว แต่ก็เก็บความรู้มาเรื่อยๆ ในสมัยนั้น หนังสือพระยังไม่ค่อยดีเป็นภาพขาวดำจะดูพระแท้ หรือชี้ตำหนิให้ดูง่ายๆ แบบสมัยนี้ไม่มี ตอนนั้นถ้าพระที่นิยมกัน ถ้าพระกรุต้องอายุเป็นร้อยๆ ปี ส่วนพระเก่าของเกจิดังต้องอายุ 50 ปีขึ้นไป
ชีวิตในช่วงมัธยมยังคงไปโรงเรียนเที่ยวเล่นกับเพื่อนตั้งแต่ ม.1-ม.2 เวลาไปบ้านเพื่อนจะขอดูพระ องค์ไหนดูแล้วชอบดูแล้วรู้จักว่าเป็นพระอะไรจะขอ จากนั้นให้พี่ดูหากพี่ชอบก็ได้เงิน 100-300 บาท เมื่อได้เงินเอาเงินตรงนี้ไปเลี้ยงเพื่อนอีกทีในวันข้างหน้า ไปบ้านเพื่อนอีกขอพระมาได้อีกก็เอาไปให้พี่ดูวนเวียนไปมาแบบนี้
นอกจากนั้น เมื่อได้พระจากบ้านเพื่อนก็ส่องศึกษาว่าเป็นยังไง เก่ายังไงแล้วนำไปขาย ซึ่งอันไหนขายได้หมายความว่ามีราคา พระองค์ไหนพี่เลือกซื้อเขาจะบอกว่าอันนี้ดี พร้อมอธิบายว่าพระองค์นี้ต้องเป็นแบบนี้แบบนั้น ฟังแล้วจำไว้อันไหนขายได้ก็จำแล้วพยายามเก็บเงินไปเช่าพระ ช่วงนั้นอาศัยเช่าพระจากบ้านเพื่อนเป็นหลัก บางครั้งเพื่อนพาไปดูพระด้วยเป็นการพาไปแบบเพื่อนต่อเพื่อน เมื่อเช่าพระได้ก็นำมาศึกษา เช่ามาได้ก็ให้พี่ทำแบบนี้ได้ประมาณ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้น ม.3 เริ่มเกเรเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง เล่นสนุกบ้าง ไปเที่ยวกับเพื่อนจนการเรียนไม่ค่อยดีพ่อเลยให้กลับสุพรรณบุรี แต่ช่วงนั้นไปสอบช่างภาพเทคนิคกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าสอบติดก็เรียนที่กรุงเทพฯ ต่อ แต่สุดท้ายสอบไม่ติดจึงต้องกลับไปเรียนอาชีวะสุพรรณบุรีหลังจากกลับสุพรรณบุรีก็ยังชอบพระเหมือนเดิม การอยู่บ้านยิ่งมีเงิน เพราะแอบเอาเงินพ่อบ้าง ขอเงินพ่อบ้าง จากนั้นไปเลี้ยงเพื่อนไปตามบ้านเพื่อน เพื่อนชอบกินเหล้าแต่ตนไม่กิน ก็เลี้ยงเพื่อน เวลาไปบ้านเพื่อนก็ขอดูพระ บางครั้งบอกเพื่อนว่าขอนะ ซึ่งด้วยความที่สนิทกันประกอบกับพ่อเพื่อนมีพระเยอะก็ได้มา
พระสุพรรณบุรีจะนำไปขายให้เซียนพระสุพรรณบุรีชื่อ "เฮียอ้า สุพรรณ" ขายได้ 80-300 บาท ส่วนพระดีๆ จะนั่งรถไปขายให้พี่ที่กรุงเทพฯ แล้วนั่งกลับมาเรียน ได้เงินก็เอาไปเลี้ยงเพื่อนวนอยู่แบบนี้เลยรู้ว่าพระองค์ไหนดี พระองค์ไหนขายได้ องค์ไหนนิยม ใช้วิธีครูพักลักจำแล้วก็ค้าขายเองไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ ตรงนี้คือการลงมือจริง ซึ่งพี่เองไม่ได้แนะนำเยอะ คุยกับเพื่อนก็ไม่เล่นพระ ไปสนามพระสุพรรณบุรีก็ไม่ค่อยมีคนเก่งมาก คนเก่งต้องเป็นเซียนพระกรุงเทพฯ กว่าจะประสบความสำเร็จเป็นขั้นๆ ไม่ง่าย แต่ทำได้ถ้าตั้งใจและรัก
ขณะเรียนอาชีวะสุพรรณบุรี 3 ปี ขึ้นล่องกรุงเทพฯ เยอะมากจนบางวันนั่งรถไปกลับ 2 รอบ บางวันไม่เรียน เพราะรีบนำพระไปขาย เพราะเห็นว่าเป็นพระดีต้องรีบ แต่บางครั้งก็เจอพระเก๊นึกว่าเป็นพระแท้ ผิดหวังเยอะเหมือนกัน
เมื่อเรียนจบอาชีวะสุพรรณบุรีได้ไปเรียนต่อกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งสอบติดที่เพาะช่างกรุงเทพฯ แผนกพาณิชศิลป์ เพราะชอบศิลปะอยู่แล้ว และที่นี่ทำให้เล่นพระได้เยอะ เพราะเรียนรอบบ่ายทำให้มีเวลาว่างช่วงเช้าแล้วรอบบ่ายเรียนถึง 5-6 โมงเย็น บางวันอาจารย์สั่งงานแล้วให้ทำงานส่งข้างนอก บางวันแทบไม่ได้ไปเรียน ก็ไปเข้าสนามพระท่าพระจันทร์ไปตามวัดราชนัดดา ช่วงสายนำพระไปให้พี่กับคนอื่นเช่าแล้วเข้ามาเรียน ทำแบบนี้ทุกวันไปทุกวัน ตอนนั้นอายุ 17-18 ปี เริ่มค้าขายเร่ิมปล่อยพระแล้ว แต่ยังไม่มีร้านค้า
หมึก ท่าพระจันทร์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตการจะเป็นเซียนพระว่า ย้อนกลับไปวันหนึ่งตอนที่เรียน ปวส. ปี 2 จำได้แม่นไปเช่าพระตอนเช้ากับพี่และเพื่อนพี่ นั่งรถกระบะไปเช่าพระ จ.สุพรรณบุรี กลับมากรุงเทพฯ บ่ายสองทันเวลาเข้าเรียน แต่มีคนแนะนำให้ไปซื้อชาม จปร. ของ ร.5 ซึ่งช่วงนั้นแพงมาก ให้ไปซื้อแถวฝั่งธนบุรีตรงวัดบางยี่ขัน เราก็รีบไปทันทีไปซื้อมา โดยเป็นชามสีชมพูเป็นชุดๆ ตอนนั้นซื้อมาประมาณ 2 หมื่นบาท ได้มาหลายใบแล้วไปขายที่เยาวราช เมื่อไปถึงถูกตีราคาให้ 8 หมื่นบาท แต่ถูกต่อราคาเหลือ 4 หมื่นบาท จึงไม่ขาย คิดว่าน่าจะขายได้ราคาดีกว่านั้น เจ้าของร้านเลยโทรศัพท์หาผู้ใหญ่ชื่อ "เสธ.วิฑูรย์" เป็นคนเล่นของเก่า ร.5 โดยเฉพาะ เจ้าของโรงแรมโทรคาเดโรที่สุรวงศ์ก็แนะนำให้ไปขายกับ เสธ.คนนี้ จึงลองดู แต่ต้องรอไปขายเวลาหนึ่งทุ่ม รอเวลาให้ เสธ.ว่าง ขณะนั้นไปโรงแรมโทรคาเดโรสภาพโรงแรมหรูมาก เราเป็นเด็กๆ ไปกับรุ่นพี่เป็นคนขายตั้งราคาไว้ 8 หมื่นบาท แต่ขายได้ราคา 7 หมื่นบาท รวมกับเงินขายพระได้มาแล้วช่วงเช้าวันนั้นวันเดียวแบ่งกำไรกัน 3 คน ได้กำไรคนละ 2-3 หมื่นบาท ดีใจมากคิดไว้วันรุ่งขึ้นจะไปโรงเรียนแต่เช้าเพราะขายได้เงินเยอะไม่ต้องขายแล้ว
จนกระทั่งไปเรียนเพื่อนถามว่าทำไมเมื่อวานนี้ไม่มาเรียนมีสอบกัน เป็นวิชากึ่งวิทยาศาสตร์เขาสอบกัน แต่ตนไม่ได้สอบทำให้เมื่อวานนี้ที่ดีใจแทบตายได้เงินเยอะจบจึงไปขอสอบกับอาจารย์ แต่ไม่ได้ต้องเรียนซ้ำไปรอสอบปีหน้า จนกลับบ้านคิดว่าได้เงินมา 2-3 หมื่นบาท เมื่อวานนี้ดีใจ วันนี้เสียใจเรียนไม่จบพ่อต้องต่อว่าไม่กล้าบอก เลยคิดว่าไหนๆ ชอบทางนี้ชอบทางพระแล้วทำมาหากินได้เงินไปเลย จากตรงนี้เลี้ยงดูตัวเองมาได้คิดเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นแรงบันดาลใจ มุ่งมั่น ลงมือ ศึกษาเรียนรู้ทำจริงจังเอาดีไปเลยได้เงินด้วย แม้ทำให้การเรียนเสียก็น่าจะทำเรื่องพระให้ดีไปเลยดีกว่า
ตอนนั้นอายุประมาณ 19 ปี บอกกับตัวเองตั้งแต่เช้าวันนั้นจะต้องเอาดีด้านพระด้านเซียนพระอย่างน้อยที่ทำมาก็ประสบความสำเร็จได้มาตลอดระดับหนึ่ง จากวันนั้นจึงทุ่มเทเรื่องการซื้อขายพระมากเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่ทิ้งการเรียนแม้จบช้าไปอีกครึ่งปี ไปคุยกับอาจารย์ขอทำงานส่งจนจบ ก็นับว่าประสบความสำเร็จไปควบคู่กันทั้งการเร่ิมเป็นเซียนพระและการเรียน ตั้งแต่วันนั้นก็ตระเวนหาพระตามบ้าน เมื่อมีเงินซื้อมอเตอร์ไซค์ขี่มอเตอร์ไซค์ไปไหนคนเดียว ตระเวนตามตลาดรอบๆ นอกของกรุงเทพฯ ไปซื้อพระตอนเช้า ตกบ่ายนำไปขาย บางครั้งซื้อเก็บไว้รวมไว้ขายตอนเช้าวันถัดไปก็มีทำแบบนี้ตลอด แต่สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือยังราคาแพง ต่อมาขายพระได้เงินเยอะแล้วจึงไปซื้อโทรศัพท์มือถือตกเครื่องหนึ่งประมาณกว่า 2 หมื่นบาท ตั้งแต่วันนั้น จากวันเริ่มขายชาม จปร. จนทุกวันนี้ได้รับการยอมรับเป็นเซียนพระก็ผ่านมาประมาณ 30 ปี
หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะขายให้คนที่เก่งกว่า เช่น พี่ชาย เพื่อนพี่ชาย แสดงว่าพระที่เล่นมาถูกทาง แต่มีบ้างที่คิดว่าพระองค์นี้แท้เช่ามากลับเป็นพระเก๊ ซึ่งบางคืนนอนคิดพระองค์นี้เช่า มา 2 พันบาท พรุ่งนี้จะไปขาย 2 หมื่นบาท นอนดีใจ แต่เมื่อนำไปขายผู้ซื้อชายตามองแวบเดียวก็บอกว่าเก๊ กลับมาคิดว่าทำไมเราดูไม่เป็น ตรงนี้เป็นบทเรียนเป็นประสบการณ์ต้องเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอย่างไรไม่มีย่อท้อยังคงซื้อพระมาขายไปจนสามารถดูได้ว่าพระองค์นี้แท้ ซื้อมา 500 บาท ปล่อยเช่า 5 หมื่นบาท ยังคิดในใจพระแท้แน่นอนมั่นใจมากถึงขนาดมี 3 องค์ ซื้อหมดเลย 3 องค์ เพราะเริ่มดูพระเป็นแล้วและไม่ใช่แค่ดูเป็น แต่มั่นใจด้วยว่าพระแท้ต้องเป็นแบบนี้ ใครว่าเก๊ไม่ต้องไปสนใจ เรามั่นใจ เพราะเคยได้มาเคยขายไป ไม่ต้องกังวล ตอนที่มั่นใจขนาดนั้นก็อายุประมาณ 22-23 ปีแล้ว
เซียนพระคนดัง เล่าอีกว่า บางครั้งเรามีพระแท้ไป แต่ไปถึงถูกบอกว่าไม่นิยม วงการพระนี่เล่ห์เหลี่ยมเยอะมาก จะบอกให้วงการพระนั้น การรู้เท่าทันคนสำคัญมาก คิดว่าคนนี้ดีกับเราเขาอาจจะไม่ได้ดีจริง เช่น แพงบอกว่าถูก เวลาได้พระซื้อมา 500 บาท นำไปขาย 7 พันบาท คิดว่าได้ราคาแล้ว แต่คนที่ซื้อไป 7 พันบาท ไปขายต่อ 15,000 บาทก็มี เราอาจจะรู้แค่นั้นต่อไปขายอีกราคาเท่าไรก็ไม่รู้จึงเก็บกลับมาคิดจริงๆ แล้วพระราคาเท่าไรกันแน่ กว่าจะรู้ราคาแน่ชัดก็ต้องผ่านองค์ที่ 4 ที่ 5 เมื่อก่อนต้องอาศัยครูพักลักจำไม่เหมือนสมัยนี้เสิร์ชอินเทอร์เน็ตถามราคารู้เรื่อง แกล้งทักไปถามร้านค้าให้ราคาเท่าไรก็ได้ แต่สมัยก่อนกว่าจะรู้ราคาเจ็บมาเยอะ
สำหรับที่มาของฉายา "หมึก ท่าพระจันทร์" นั้นสมัยก่อนในวงการพระมีชื่อซ้ำกันมาก โดยฉายาในวงการพระเหมือนเป็นการบอกคนนั้นเป็นคนที่ไหนหรือว่าอยู่ในตลาดพระอะไร ส่วนตนอยู่ในท่าพระจันทร์แม้พี่จะชื่อ โก๋วัดลาด แต่มีร้านอยู่ในท่าพระจันทร์ ตนอยู่ในท่าพระจันทร์จนชินจนคนในละแวกนั้นมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดพระท่าพระจันทร์ เช้ามาก็เจอบ่ายมาก็เจอ ต่อมายังเปิดแผงพระอยู่ในท่าพระจันทร์อีก จากนั้นช่วงหลังมีงานประกวดพระต้องไปเป็นกรรมการมีคนชื่อซ้ำจะมีคำถามตามมาอีกว่า "หมึก" ไหน จนถูกเรียกว่า "หมึก ท่าพระจันทร์" แล้วแบรนด์ "ท่าพระจันทร์" ถือได้ว่าเป็นแบรนด์มาตรฐานที่สุดในวงการพระแล้วจนกลายเป็นฉายา "หมึก ท่าพระจันทร์" มาเรื่อยๆ
ตนไม่เคยเปิดตัว แต่ด้วยเป็นคนมีเพื่อนดีและเป็นคนอัธยาศัยดีตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะสมัยตั้งแต่วิ่งซื้อขายพระ เปิดแผงนั่งแบกะดินจนเป็นโต๊ะ จนมาเป็นตู้พระเป็นห้อง เป็นร้าน คบคนทุกคน ตั้งแต่สมัยก่อนนั่งอยู่ข้างๆ กัน แม้ทุกวันนี้ยังพูดคุยกัน เจอกันคุยกันเหมือนเดิม โดยพระเหมือนคอนเน็กชั่นระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ระหว่างเพื่อนของเพื่อน หรือคนที่เราเคยซื้อขายเป็นคนรู้จักกันมาแม้เวลาจะผ่านไป 30 ปี คนกลุ่มนี้ไม่เคยทิ้งกันเจอก็ทัก มีอะไรโทรศัพท์หาเลย ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ส่วนตัวไม่เคยไม่ชอบออกสื่อเพิ่งจะมาระยะหลังๆ ออกสื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แฟนเพจเฟซบุ๊กก็เพิ่งจะเล่นครบ 1 ปีเมื่อไม่กี่เดือน แต่คนน่าจะรู้จักตนมานาน เพราะไปงานประกวดพระ ทำงานให้สมาคม ทำให้คนรู้จักเห็นคุณค่าในตัวจากปากต่อปาก นอกจากนั้นก็มีลูกค้าระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนตัวเป็นคนขี้อาย เวลาไปงานประกวดจะไม่ค่อยถ่ายรูปจนเพิ่งมาปรากฏตัวกับสื่อช่วงหลังด้วยเหตุผลว่า ถ้ายังอยู่กับที่ ยังยึดติดกับการเล่นพระแบบโบราณอาจจะถูกกลืนหายไปแม้จะเป็นเซียนพระก็ต้องมีการปรับตัวตลอด ต้องปรับตัวให้ร่วมสมัย ปรับตัวให้เข้ากับปัจจุบัน
ในส่วนของเทคนิคการดูพระสไตล์เซียนพระ "หมึก ท่าพระจันทร์" สิ่งสำคัญในการดูพระแท้จะต้องมีองค์ประกอบ 3-4 อย่าง คือ 1. พิมพ์พระ จะต้องรู้ว่าพระองค์นี้ลักษณะเป็นอย่างไร ตัว หน้าตา มือวาง ฐาน บัว ขนาดเล็กใหญ่ องศาจะต้องเป็นแบบใด สิ่งที่กล่าวมาเมื่อประกอบกันคือพิมพ์พระหรือแม่พิมพ์สำหรับพระองค์นั้นๆ จะต้องจำให้ได้ ยกตัวอย่างเวลาแยกระหว่างรถยนต์ เมอร์เซเดสเบนซ์ กับรถยนต์ BMW รุ่นนี้คือ 316 รุ่นนี้คือ 318
2. เนื้อต้องใช่ คือ จะต้องรู้ว่าพระองค์นี้ทำมาจากอะไร เช่น เนื้อทองเหลือง เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อเงิน 3. ความเก่าถึง หมายถึงพระองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2450 ผ่านมาจนถึงวันนี้อายุต้อง 100 กว่าปี จะต้องดูความเก่าว่าจะต้องเก่าประมาณไหนถึงแม้จะเก็บรักษาอย่างดี ควรจะมีลักษณะใด หากถูกเหงื่อจะมีลักษณะแบบใด ไม่ใช่ว่าพระอายุ 100 กว่าปี พอดูแล้วเหมือนพระเพิ่งสร้างไม่กี่เดือนหรือดูเหมือนพระปีที่แล้ว และ 4. ขั้นตอนการผลิต จำเป็นต้องรู้ขั้นตอนการผลิตของพระแต่ละองค์ เช่น ใช้วิธีการหล่อน้ำทองวิ่งเข้าอย่างไร มีการปั๊ม วิธีตัดแบบใด ตัดด้วยเครื่อง ตัดออกมาเป็นบล็อกกระบอกหรือใช้เลื่อยฉลุในการตัดออกมา
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เซียนพระ หรือผู้ที่อยากจะเป็นเซียนพระต้องเรียนรู้ หลังจากหยิบพระออกมาดูแล้วพิมพ์ถูก เนื้อใช่ ความเก่าถึง การผลิตถูกต้องก็ยังต้องดูอย่างอื่นเป็นองค์ประกอบด้วย พระเป็นของล้ำค่าแต่โบราณแม้ในอดีตจะไม่มีราคา แต่ทุกคนเมื่อรู้เป็นพระดี หลวงพ่อดีก็จะไปรับมาเก็บไว้เมื่อได้มาคงไม่มีใครเอาไปวางทิ้งไม่สนใจ ต้องนำไปวางอย่างดีบนหิ้งพระ ต้องอยู่ในกล่อง ในตลับบางองค์ไม่ได้เลี่ยม วางไว้เฉยๆ ก็อาจจะมีคราบฝุ่น เปรียบได้กับเรามีพี่ชาย แต่วันหนึ่งพี่ชายหายไป 3 เดือน ไปอยู่ทะเล กลับมาตัวดำ ผิวลอก ก็ยังจำได้เป็นพี่ชาย ต่างกับเวลาที่พี่ชายอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหนผิวพรรณจะคนละอย่าง
พระนั้นหากเปรียบกับรถยนต์ รถคันจอดไว้บ้านไม่ได้ขับออกไปไหนสภาพจะดี ต่างจากอีกคันนำไปขับชายทะเลจะมีการผุกร่อนหรืออีกคันนำไปวิ่งในป่าออกมาสภาพจะเลอะโคลนมีรอยขีดข่วน ซึ่งก็เหมือนกับพระแต่ละองค์ที่ต้องจำให้ได้ให้ครบองค์ประกอบ ไม่เช่นนั้นคนจะไม่กล้าเช่าพระ ถ้ารู้จริง ก็กล้าเช่า เพราะองค์หนึ่งราคาไม่ใช่น้อย ส่วนตัวคิดว่าคือเทคนิคพื้นฐาน แม้ตนอาจจะจำตำหนิพระตรงนี้เซียนพระอีกคนอาจจะจำตำหนิตรงอื่นในพระองค์หนึ่งๆ เป็นเทคนิคเฉพาะตัว แต่องค์ประกอบ โครงสร้างใหญ่ๆ จะต้องครบ
อย่างไรก็ตาม การดูพระไม่ใช่การลงคะแนน ยกตัวอย่างมีกรรมการ 5 คน ลงความเห็นเป็นพระเก๊ 3 คน เป็นพระแท้ 2 คน ตามหลักแล้วฝั่งคะแนนน้อยจะต้องแพ้ไปแต่ความจริงพระองค์นี้อาจจะเป็นพระแท้ก็ได้ เรื่องนี้มีความซับซ้อนลึกซึ้งมากกว่าศาสตร์อย่างอื่น แม้แต่กับตนมีคนลงคะแนนพระเก๊ 4 คน มีตนลงคะแนนเป็นพระแท้คนเดียวยังมีคนให้เกียรติเชื่อว่าเป็นพระแท้ เนื่องจากประสบการณ์และจากเคยซื้อขายกันมา ดังนั้น พระไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคะแนนความมากน้อย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเซียนพระคนนั้นๆ ถนัดพระองค์ใด ชนิดใดมากที่สุด
ส่วนตัวชอบพระกริ่ง พระชัย เป็นรูปหล่อ พระปิดตา เครื่องราง แต่พระเหรียญ พระเนื้อผงจะไม่ค่อยถนัด ต้องถามเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการที่มีความถนัดมากกว่า ปัจจุบันพระบางองค์ราคาเป็นล้านถ้าซื้อพลาดมา 2 องค์ เงินหายเป็นหลายล้านไม่สามารถคืนเงินได้ ส่วนกับตลาดพระเครื่องไทยในยุคสังคมโซเชียลนั้น คิดว่าตอนนี้เป็นยุคเฟื่องฟูที่สุดตั้งแต่เข้าวงการมา เซียนพระสมัยก่อนย้อนไปเมื่อ 20-30 ปี ได้พระมา 1 องค์ มีคนซื้อเพียงไม่กี่คน ถูกกดราคาบ้าง ไม่นิยมบ้าง มีคนรู้จักอยากได้น้อยพระก็ไม่ได้ราคา แต่ปัจจุบันโลกโซเชียลกว้างไกล ประกอบกับมีใบ certificate รับรองว่าเป็นพระแท้มีองค์กรที่ได้มาตรฐาน
สิ่งสำคัญคือ ปัจจุบันมีทั้งคนเล่นพระมา 20-30 ปี ยังอยากได้พระและคนรุ่นใหม่ที่เล่นโซเชียลก็ชื่นชอบพระ นั่นคือ คนชอบพระเพิ่มขึ้น อยากได้มากขึ้น แต่พระแท้มีจำนวนเท่าเดิมไม่เคยเพิ่มขึ้นเพราะหลวงพ่อผู้สร้างท่านมรณภาพไปแล้วทำให้มูลค่าของพระเครื่องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ผู้ชื่นชอบพระไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น สื่อโซเชียลยังกว้างไกลไปถึงต่างประเทศชาวจีน ฝรั่ง ก็ชอบทำให้ตั้งราคาได้มากกว่าอดีต
ทุกวันนี้มีคนรุ่นใหม่อยากเข้ามาเล่นพระอยากเป็นเซียนพระเยอะมาก อาจจะเข้ามาด้วยพุทธพาณิชย์เห็นการเช่าพระเป็นการค้าขายได้เงินง่าย แต่อยากฝากถึงทุกคน ตนเข้าใจทั้งผู้ซื้อผู้ขายรวมไปถึงนักนิยมสะสมพระทุกคน อยากแนะนำว่าอันดับหนึ่งคือ ต้องเช่าพระแท้ตามมาตรฐานสากลของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทยโดยมีเซียนพระชื่อดัง "พยัพ คำพันธ์" เป็นนายกสมาคมฯ และมี นายพิศาล เตชะวิภาค หรือ "ต้อยเมืองนนท์" เป็นรองนายกฯ ส่วนตัวคิดว่าสิ่งนี้คือ ข้อดีที่สุดในการเล่นพระ จะไม่หลงทางเอาพระเก๊มาเป็นพระแท้เอาพระแท้มาเป็นเก๊ จะอยู่ในระบบนิยม และมาตรฐานทั้งวงการ โดยคนเล่นพระรุ่นใหม่ที่เข้าวงการอยากให้ดูหนังสือมาตรฐานตามที่สมาคมวางไว้ตามงานประกวดพระแต่ละประเภท ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้ ก็ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้
ฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเซียนพระนอกจากต้องพยายาม หมั่นเรียนรู้ ลงมือจริงแล้วยังต้องดูแลสุขภาพด้วย เพราะการเป็นเซียนพระไม่ได้สบายต้องใช้สายตา ความจำมาก ปกติแล้วตนเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่ดื่มกาแฟ ไม่แตะแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องใช้สายตาทำงานนานๆ ต้องใช้ความคิดจนบางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าแนะนำตัวช่วยสำคัญอย่างเครื่องดื่ม "โสมพลัส" ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสกัดจากโสมเกาหลี 100% ช่วยบำรุงสายตา สมอง และร่างกายให้แข็งแรง มีส่วนช่วยสายตา และความจำกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เคล็ดลับอีกอย่างในการดูแลตัวเองคือ พักผ่อนให้เพียงพอ รีแล็กซ์ ผ่อนคลายบ้าง ที่สำคัญคือ ให้มีความสุขกับการดูพระ ใครมาคุยเรื่องพระแล้วตนอยู่ในวงสนทนาด้วยจะมีความสุขเหมือนได้เจอคอเดียวกันก็จะใช้ชีวิตได้มีความสุขมากกว่าคนอื่น.
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
June 15, 2020 at 12:01AM
https://ift.tt/2MZ0YeU
กว่าจะเป็นเซียนพระ "หมึก ท่าพระจันทร์" หมั่นเพียร เรียนรู้ เข้าวงการตั้งแต่ ป.2 - ไทยรัฐ
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กว่าจะเป็นเซียนพระ "หมึก ท่าพระจันทร์" หมั่นเพียร เรียนรู้ เข้าวงการตั้งแต่ ป.2 - ไทยรัฐ"
Post a Comment