นักวิชาการในวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ เห็นว่าบีอาร์เอ็นและรัฐไทยกำลังทำสงครามจิตวิทยาเพื่อช่วงชิงมวลชน ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และยังอยู่ในห้วงถือศีลอด (รอมฎอน) ของชาวมุสลิม ซึ่งเพียงสัปดาห์แรกได้เกิดเหตุวิสามัญ 3 ผู้ต้องหาตามหมายจับของทางการในบ้านพักแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี โดยบีอาร์เอ็นได้ออกมายอมรับว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็น "นักรบบีอาร์เอ็น" และออกแถลงการณ์ประณามรัฐไทย
ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ หรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ออกแถลงการณ์ประณามปฏิบัติการของกองทัพไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อ 1 พ.ค. โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปฏิบัติการเมื่อ 30 เม.ย. ที่เกิดขึ้นที่บ้านปะกาลือสง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของ 3 นักรบบีอาร์เอ็น โดยที่ปฏิบัติการนี้เริ่มต้นโดยกองกำลังทหารไทย ทั้งที่มีวิธีการอื่น ๆ เพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ตามหมายจับ
"บีอาร์เอ็นขอประณามรัฐไทยที่ไม่ตระหนักถึงความยากลำบากที่ประชาชนชาวปาตานีกำลังเผชิญอยู่ในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ใส่ใจต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมของประชาชนในพื้นที่" แถลงการณ์บีอาร์เอ็นระบุ
บีอาร์เอ็นยังปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าบ้านจุดเกิดเหตุถูกใช้สำหรับการวางแผนโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง และยังเรียกร้องให้รัฐไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันโควิด-19 มากกว่าการสู้รบ
บีอาร์เอ็นให้กองกำลังพร้อมรับมือสถานการณ์
ก่อนหน้านี้ บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ยุติกิจกรรมความเคลื่อนไหวทั้งหมดของกลุ่มลงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคำประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. และจะคงอยู่ตราบที่บีอาร์เอ็นไม่ถูกโจมตีโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย
อย่างไรก็ตาม "ศัตรูที่คุกคามความสงบสุขของประชาชนชาวปาตานี" ไม่เคารพคำประกาศดังกล่าว และเปิดปฏิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจค้นบ้าน, การควบคุมตัวโดยพลการ, การบังคับเก็บตัวอย่างรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) รวมถึงการยั่วยุสมาชิกบีอาร์เอ็น แต่นักรบบีอาร์เอ็นทั้งหลายปฏิเสธที่จะเปิดปฏิบัติการทางการทหารรอบใหม่เพื่อเคารพต่อคำประกาศของขบวนการ
ในช่วงท้ายของแถลงการณ์บีอาร์เอ็นยังระบุด้วยว่า "พวกเราหวังว่ากองกำลังบีอาร์เอ็นจะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ และเฝ้าระวังการยั่วยุและปฏิบัติการรุนแรงโดยกองกำลังของฝ่ายไทย ในขณะที่พวกเราสนับสนุนประชาชนปาตานีที่กำลังรับมือกับโรคระบาดโควิด-19"
ก่อนแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษจะถูกเผยแพร่ออกมา บีอาร์เอ็นได้ออกคลิปภาษามลายูภายใต้ชื่อ "แถลงการณ์เรื่องภารกิจด้านมนุษยธรรมต้องมาก่อน"
แถลงการณ์ฉบับต่าง ๆ ของขบวนการบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นหลังจากกองกำลังร่วม 3 ฝ่ายนำโดย พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกรมทหารพรานที่ 43 เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านต้องสงสัยไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ้านปะกาลือสง ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังสืบทราบว่ามีแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการเข้ามาเคลื่อนไหวและอาศัยบ้านดังกล่าวเป็นที่หลบซ่อนตัว ก่อนเกิดการยิงปะทะกัน จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 3 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสอบสวน จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย อาการปลอดภัยแล้ว
กอ.รมน.ภาค 4 สน. แจงต้อง "บังคับใช้กฎหมายกับอาชญากร"
ฝ่ายรัฐไทย โดย พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชี้แจงปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 30 เม.ย. โดยระบุว่า "ปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการบังคับใช้กฎหมายกับอาชญากรที่กระทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนและความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้"
โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า ผลจากการแจ้งข่าวของประชาชนที่พบความเคลื่อนไหวกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ทำให้เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเข้าพิสูจน์ทราบ "แต่ถูกกลุ่มคนร้ายเปิดฉากยิงใส่ จึงได้เกิดการปะทะ และเกิดการสูญเสียดังกล่าว"
เหตุปะทะที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ต้องสงสัยถูกวิสามัญเสียชีวิต 3 ราย จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าพวกเขามีประวัติหมายจับรวม 10 หมาย ซึ่งล้วนเป็นคดีที่มีความรุนแรง อุกฉกรรจ์ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทำลายระบบเศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม
เปิดประวัติผู้ต้องหาที่ถูกวิสามัญเสียชีวิต | |
---|---|
นายยูโต๊ะ แมะตีเมาะ อายุ 33 ปี | บุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา 7 หมาย โดยคดีสำคัญคือคดีระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเมื่อ 11 ส.ค. 2559 และคดีระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อยทหารพรานที่ 4303 เมื่อ 10 ม.ค. 2560 |
นายมะตามีซี สาอิ อายุ 32 ปี | บุคคลตามหมายจับ ป. วิอาญา 2 หมาย คดีสำคัญคือคดีปล้นทองมูลค่า 85 ล้านบาท จากร้านทองสุธาดา อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อ 24 ส.ค. 2562 |
นายอับดุลอาซิ ปากียา อายุ 39 ปี | บุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา 1 หมาย คดีระเบิดห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีปัตตานี เมื่อ 9 พ.ค. 2560 |
ที่มา : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน., พล.ต.ต.จีรวัฒน์ พยุงธรรม ผบก.ภ.จว.ปัตตานี
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจยึดอาวุธปืนได้ 3 กระบอก ประกอบด้วย ปืนลูกซอง, ปืนเล็กยาว เอ เค 102 และปืนพกขนาด .38 โดยศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 จะนำไปตรวจสอบประวัติและความเชื่อมโยงทางคดีที่เกี่ยวข้องต่อไป
กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยังระบุด้วยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตราการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง เจ้าหน้าที่รัฐต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีและผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามสร้างสถานการณ์ลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องด้วยการวางระเบิดหรือด้วยการปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก จึงฝากประชาชนให้แจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่หากพบเห็นบุคคลต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่
เอ็นจีโอด้านสิทธิฯ เผยชายวัย 81 ถูกคุมตัวสอบในค่ายอิงคยุทธฯ
ด้านเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) เปิดเผยผ่านแฟนเพจว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 1 พ.ค. เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชายวัย 81 ปี ซึ่งเป็นชาวบ้าน ม.3 ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าชายคนนี้เป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ จึงถูกพาตัวไปควบคุมตัวต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งทางเครือข่ายฯ JASAD คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และเคารพวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ในช่วงเดือนรอมฎอน
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชายวัย 81 ปีซึ่งเครือข่าย JASAD ระบุว่าได้รับทราบมาจากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ พบว่า ชายรายนี้พักอาศัยอยู่บ้านคนเดียว เคยแต่งงาน แต่ไม่มีลูก และได้หย่าร้างกับภรรยาในเวลาต่อมา ส่วนพี่น้องบางคนเสียชีวิตไปแล้ว บางคนก็อาศัยอยู่พื้นที่อื่นและมีอายุในช่วงวัยชรา ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่งเนื่องจากชรา แต่บางวันก็จะเข้าไปในสวนบ้าง
สำหรับ JASAD เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ด้านสิทธิมนุษยชน และเป็น 1 ใน 4 องค์กรที่ร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธทุกฝ่าย ทั้งของบีอาร์เอ็นและรัฐไทยหยุดยิง และหยุดการใช้ความรุนแรงทางอาวุธทุกรูปแบบทันที เพื่อขจัดอุปสรรคในการช่วยชีวิตประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
"ใครจะมีความเป็นสุภาพบุรุษมากกว่ากัน"
ขณะที่ ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ดือแระ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการพัฒนาองค์กร วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในเดือนรอมฎอนของทุกปี มักมีข้อตกลงเรื่องการยุติยิงหรือก่อเหตุรุนแรง แต่ปีนี้พิเศษเนื่องจากมีโรคระบาด ทำให้บีอาร์เอ็นชิงประกาศวางอาวุธฝ่ายเดียวไปก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดเหตุปะทะที่บ้านปะกาลือสง ฝ่ายรัฐจึงต้องรีบออกมาบอกว่าไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหาร แต่เป็นเรื่องของตำรวจที่ติดตามคดีอย่างต่อเนื่องตามหมายจับ
"มันกลายเป็นว่าใครจะมีความเป็นสุภาพบุรุษมากกว่ากัน ถ้ามองในเชิงสงครามจิตวิทยา บีอาร์เอ็นช่วงชิงพื้นที่ได้ดีกว่า และเสียงสะท้อนในพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่รัฐก็ค่อนข้างจะติดลบ" ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าว
นักวิชาการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ยังอ้างถึง "ข้อมูลเชิงลึก" จากคนที่เชื่อว่าคลุกวงใน เล่าว่า ฝ่ายการเมืองของขบวนการบีอาร์เอ็นก็แบ่งคนไปลงพื้นที่ไปคอยดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาปากท้องในช่วงโควิด เมื่อเกิดเหตุไม่ดีกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงสามารถตีกินได้ง่าย ๆ
อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดความสำเร็จของ "สงครามจิตวิทยา" และ "ปฏิบัติการชิงมวลชน" ระหว่างฝ่ายบีอาร์เอ็นกับรัฐไทยตามทัศนะของนักวิชาการรายนี้ อยู่ที่การดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย หรือที่ถูกเรียก "กลุ่มต้มยำกุ้ง" ที่คาดว่าจะทะลักเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติหลายหมื่นคน ซึ่ง ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ชี้ว่าเป็น "กลุ่มอ่อนไหวที่ถูกปลุกปั่นได้ง่าย" เพราะการเดินทางไปอยู่ต่างแดนก็ไปจากความรู้สึกว่ารัฐไทยไม่ดูแลเขา การกลับมาไทยครั้งนี้ก็เพื่อมาฉลองวันละศีลอดกับญาติพี่น้องที่ฝั่งไทย แต่กลับต้องพบข้อจำกัดในการเข้าเมืองมากมาย ซึ่งมีทั้งจากตัวเขาเองที่อาจเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และจากการออกประกาศ/คำสั่งต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางโดยขาดการคิดถึงภาพการปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่แตกต่างออกไป และเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลชาติอื่นที่จัดเครื่องไปรับคนของตัวเองกลับมา ก็ทำให้เกิดความคับข้องใจได้ เป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้เห็นต่างหยิบไปปลุกปั่นได้ง่าย ๆ ว่า "เห็นไหม เป็นลูกเมียน้อย" อะไรอย่างนี้
ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ยังแสดงท่าทีสนใจต่อเนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับล่าสุดของบีอาร์เอ็นที่ออกมายอมรับว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายเป็น "นักรบบีอาร์เอ็น" เพราะเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับการออกมากล่าวอ้างความรับผิดชอบ หรือแสดงความเชื่อมโยงกับตัวองค์กร ซึ่งถ้าย้อนดูข้อเสนอของฝ่ายผู้เห็นต่างบนโต๊ะเจรจาพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าหนึ่งในนั้นคือการขอเอกสิทธิ์คุ้มกันฝ่ายขบวนการคือไม่ให้จับกุม คุมขัง หรือดำเนินคดีแกนนำพูดคุยในระหว่างร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐไทย
"กับบีอาร์เอ็นที่มาร่วมคณะพูดคุยชุดปี 2563 แทบไม่มีใครปฏิเสธเลยว่าไม่ใช่ตัวจริง ไม่ว่าในฝ่ายขบวนการเอง หรือเอ็นจีโอในพื้นที่ก็ไม่ปฏิเสธ พอเขาไปเคลม (กล่าวอ้าง) อย่างนี้ มันทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า" เขาตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
May 02, 2020 at 07:43PM
https://ift.tt/3d7EpzG
ไฟใต้ : นักวิชาการชี้ บีอาร์เอ็น-รัฐไทย ทำสงครามจิตวิทยาในเดือนรอมฎอน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 - บีบีซีไทย
"พวกเขาทั้งหมด" - Google News
https://ift.tt/2VFpqXR
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ไฟใต้ : นักวิชาการชี้ บีอาร์เอ็น-รัฐไทย ทำสงครามจิตวิทยาในเดือนรอมฎอน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 - บีบีซีไทย"
Post a Comment