Search

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (4 ) - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์

faca.prelol.com

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (4 )

วันที่ 21 พ.ค. 2563 เวลา 13:31 น.

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************************

โรคระบาดมีมาตั้งแต่เมื่อไร ? ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า โรคระบาดคือโรคที่ติดต่อกันได้ และถ้าจะถามว่าโรคติดต่อนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ผู้รู้เขาว่า โรคที่ติดต่อได้มันมีมานานเกินหมื่นปีแล้ว ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์อยู่กินจากการล่าสัตว์และเก็บของป่า ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าจะมีโรคที่ติดต่อกันได้ แต่มันก็ไม่ “ระบาด” ถึงแม้จะติดต่อ แต่ไม่เรียกว่าระบาด เพราะระบาดหมายถึง กระจัดกระจาย, แพร่ไปอย่างรวดเร็วกว้างขวาง

แต่เมื่อมนุษย์ยุคก่อนหมื่นปี ไม่ได้ลงหลักปักฐานอยู่ด้วยกัน แต่จะเร่ร่อนไปเรื่อยๆ ของป่าหมด สัตว์ร่อยหรอ ก็ย้ายไปหาที่ใหม่ โรคติดต่อมันก็ไม่รู้จะกระจัดกระจายแพร่ไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางได้สักเท่าไร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักกันเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ก็ถือว่ามนุษย์พ้นจากการเก็บของป่าและล่าสัตว์เข้าสู่ยุคเกษตรกรรมที่มีการลงหลักปักฐานอยู่กันเป็นชุมชน เพราะการจะทำไร่ไถนาเลี้ยงสัตว์ได้นั้น มันต้องอาศัยแรงงาน

เมื่ออยู่รวมกันมากๆ เมื่อเกิดโรคติดต่อ มันก็จะกลายเป็นโรคระบาดได้ ดังนั้น การที่โรคติดต่อจะเป็นโรคระบาด มันต้องอาศัยเงื่อนไขของการที่คนมาอยู่รวมกันเยอะๆ ยิ่งเยอะเท่าไรก็ยิ่งระบาดได้รวดเร็วกว้างขวางเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ว่า แต่ละโรคมันติดต่อกันทางไหน ถ้าทางผิวหนังก็ต้องมีการสัมผัส ซึ่งถ้าไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน ก็ไม่ติด แต่ถ้าเป็นทางลมหายใจ (ละอองฝอย น้ำลาย น้ำมูก) อันนี้ก็จะระบาดง่าย โรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงหมื่นปีที่แล้วอันเป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มเข้าสู่ยุคเกษตร ได้แก่ โรคมาลาเรีย วัณโรค โรคเรื้อน ไข้หวัดใหญ่ ไข้ทรพิษ

แต่คนสมัยก่อนไม่ค่อยจะเข้าใจว่าการระบาดของโรคติดต่อนั้นมีสาเหตุจากอะไร แต่นักประวัติศาสตร์เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว อย่าง ธูซิดิดีส (Thucydides) ชาวเอเธนส์ที่เป็นผู้บันทึกการเกิดโรคระบาดที่เอเธนส์ได้มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น จากการที่เขาเป็นนักสังเกตที่ดี เขาพบว่า ในพื้นที่ของเอเธนส์ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นที่สุดจะมีผู้ตกเป็นเหยื่อของโรคระบาดถี่ที่สุด

และในช่วงที่เกิดโรคระบาด เอเธนส์ก็ดันทำสงครามกับสปาร์ตา ทำให้เพอริคลีส (Perciles) ผู้เป็นทั้งผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและเป็นแม่ทัพของเอเธนส์ได้สั่งย้ายพลเมืองชาวเอเธนส์จากชนบทเข้าสู่ใจกลางกรุง เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกโจมตีจากสปาร์ตา ซึ่งกรีฑาทัพมาประชิดเอเธนส์ในขณะนั้น เมื่อผู้คนจากชนบทพากันมาแออัดยัดทะนานอยู่ในเอเธนส์ มาอาศัยวัดวิหารนอนกันบ้าง บริเวณที่แออัดมากก็เลยเป็นที่พบคนป่วยมาก นับว่าธูซิดิดีสเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดีมากๆ

ธูซิดิดีส ยังสังเกตได้ว่า อาชีพที่เปราะบางกับการติดเชื้อมากที่สุดก็คือ หมอ เพราะจะต้องเข้าไปดูแลคนป่วย ยิ่งกว่านั้น เขายังพบว่า โรคระบาดยังสามารถเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ จากการสังเกตการณ์ในช่วงระหว่างที่เอเธนส์ยกทัพไปล้อมเมืองโปเทดา (Poteida) นั่นคือ ทหารจากเอเธนส์ไปแพร่เชื้อให้ทหารเอเธนส์ที่ประจำการอยู่ที่โปเทดา จากผลจากการสังเกตการณ์ดังกล่าว ทำให้ธูซิดิดิสอนุมานได้ว่า โรคระบาดนี้ไม่ได้เกิดจากเงื่อนไขเฉพาะของเอเธนส์เท่านั้น เพราะมันยังไประบาดที่อื่นๆได้ด้วย

ดังนั้น จะว่าเอเธนส์เป็นเมืองต้องคำสาป ก็ไม่ได้ เพราะเมืองอื่นที่มีสภาพอากาศ ที่ตั้งที่แตกต่างกันก็มีคนป่วยด้วยโรคนี้ได้ อย่างที่เกิดขึ้นที่โปเทดา เมืองโปเทดาอยู่ห่างจากเอเธนส์ราว 583 กิโลเมตร แม้ว่าถ้าคิดจากคนปัจจุบัน ถ้าเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 583 กิโลเมตรก็จะถึงนครพนมพอดิบพอดี ถ้าจะถามว่า กรุงเทพกับนครพนมมีดินฟ้าอากาศแตกต่างกันไหม ก็คงต้องบอกว่าต่างทีเดียว เช่นกัน ในสมัยกรีกโบราณ เมืองสองเมืองที่ห่างกัน 583 กิโลเมตรอย่างเอเธนส์กับโปเทดา ก็ย่อมมีสภาพดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกัน ยิ่งสมัยโน้น เอเธนส์กับโปเทดาเปรียบได้กับเป็นประเทศสองประเทศ ไม่ได้เป็นจังหวัดภายในประเทศเดียวกัน

อย่างกรุงเทพ-นครพนม ดังนั้น ความรู้สึกของคนสมัยนั้น ก็เลยคิดว่า โรคบางโรคมันมีสาเหตุมาจากสภาพน้ำลมไฟบรรยากาศดินฟ้าของเมืองที่เกิดโรคระบาด ซึ่งหมอสมัยกรีกโบราณก็ยังมีความเชื่อเช่นนั้นว่าโรคบางโรคมันเกิดจากสภาพดินน้ำลมไฟของบ้านเมืองนั้นๆ แหม ! ถ้าเป็นสมัยนี้ คงต้องติดตรา GI เป็นโรคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เหมือนผลไม้ของไทย และถ้าออกจากเมืองไป โรคก็จะซาๆไปเอง อะไรประมาณนี้

จะเห็นได้ว่า ทฤษฎีของหมอกรีกโบราณนั้นผิด ถูกล้มล้างโดยการสังเกตการณ์ของนักประวัติศาสตร์อย่างธูซิดิดีส เพราะโรคระบาดที่เกิดขี้นที่เอเธนส์นั้นหาใช้โรคประเภท GI ไม่ เพราะมันไประบาดที่อื่นได้ ต่างจากพวกส้มหรือทุเรียนที่ถ้าเอาส้มบางมดไปปลูกในดินที่อื่นก็จะไม่ได้รสชาติแบบส้มบางมด

ไปๆมาๆ กลับจะไม่ใช่พวกหมอๆแล้วที่เข้าใจเรื่องโรคระบาด แต่คนที่ค้นพบและเข้าใจธรรมชาติของโรคระบาดก็คือ ธูซิดิดีส เพราะเขาน่าจะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ (ประวัติศาสตร์ฝรั่ง) ที่ได้ข้อสรุปจากการสังเกตการณ์เหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ที่เกิดขี้นในช่วงที่มีคนป่วยล้มตายกันเป็นเบือว่า “คนที่ติดเชื้ออาจจะส่งผ่านเชื้อไปสู่คนอื่นที่ยังไม่ติดเชื้อได้” แม้ว่าจะดูไม่ต่างจากทฤษฎีการแพทย์สมัยนั้นที่เชื่อว่า โรคระบาดเป็นผลจากสิ่งที่เรียกในภาษากรีกโบราณว่า miasma หรือ ไอระเหยที่เป็นพิษ และคนที่หายใจเอาไอระเหยพิษนี้เข้าไป ก็จะติดเชื้อนี้ไป แต่พวกหมอๆเชื่อว่า ไอ้เจ้า เมียสม่า (miasma) นี้เกิดอิทธิพลของสภาพอากาศ ดวงดาว หรือไปโน้นเลย เทพเจ้าสั่งมา เพราะโกรธมนุษย์ในที่นั้นๆ

แต่ก็ยังดีที่มีหมอกรีกคนหนึ่งไม่เชื่อว่าโรคระบาดเกิดจาก “เทพสั่งมา” แต่เชื่อว่ามันมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ และหมอกรีกคนนี้มีชื่อ ฮิปโปเครติส (ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่)

                                                                                            ฮิปโปเครติส

ที่จริงถ้าฟังเผินๆ คำอธิบายของหมอกรีกโบราณเกี่ยวกับการระบาดของโรคผ่านการสูดไอพิษก็ฟังดูสมเหตุสมผลอยู่ แต่ถ้าฟังไปนานๆเข้า ก็จะพบว่า ไม่ได้เรื่อง ! เพราะไอพิษที่ว่านี้ หมอบอกว่า มันลอยขี้นมาจากสภาพอันเลวร้ายของดินน้ำลมไฟในเมืองนั้นๆ แล้วเมื่อใครหายใจเอาไอพิษนี้เข้าไปก็จะป่วย นั่นคือ คนป่วยแต่ละคนที่เอเธนส์เป็นเพราะหายใจเอาไอพิษนี้เข้าไป แต่ธูซิดิดีสบอกว่า เชื้อโรคมันติดต่อจากคนๆหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ธูซิดิดีส เป็นมนุษย์คนแรกที่ค้นพบทฤษฎีโรคติดต่อหรือโรคระบาด แต่ผู้คนก็ไม่ค่อยจะยอมเชื้อทฤษฎีของธูซิดิดีส เพราะยังพากันสืบทอดความเชื่อในทฤษฎีเมียสม่าของหมอกรีกกันมาอีกนับพันปี

นอกจากธูซิดิดีสจะค้นพบทฤษฎีโรคระบาดแล้ว เขายังพบทฤษฎีภูมิคุ้มกันอีกด้วย ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า ธูซิดิดีสได้สังเกตว่า คนที่มีอาการป่วยแต่ไม่เลยเถิดไปถึงตาย เวลาเกิดโรคระบาดซ้ำสองคนพวกกลับไม่เป็นไร

แต่ที่ว่าไม่เป็นไรนี้ เขายังสังเกตอีกด้วยว่า ไม่เป็นไรเฉพาะโรคนั้น แต่เมื่อมีโรคระบาดใหม่ คนพวกนี้ก็จะมีอาการป่วย ส่วนร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคใหม่ได้อีกหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่คน แต่คนส่วนใหญ่ในเอเธนส์ก็ไม่ค่อยจะเชื้อเรื่องทฤษฎีภูมิคุ้มกันของเขา เพราะเมื่อเป็นแล้วไม่ตาย แต่ก็ไม่กล้าไปเข้าใกล้คนป่วย แต่ก็มีคนบางคนที่เชื่อทฤษฎีภูมิคุ้มกันของเขา แต่ก็มีส่วนน้อยที่กล้าไปดูแลคนป่วย เพราะเชื่อว่าตัวเองจะไม่เป็นไร

ความเป็นคนช่างสังเกตและพยายามคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของธูซิดิดีสทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคระบาดได้ถูกต้องกว่าพวกหมอๆในสมัยนั้น แต่แม้ว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ควรให้ค่ากับความเป็นนักประวัติศาสตร์ของเขาเท่ากับการที่เขามีระเบียบวิธีคิดและการปะติดปะต่อข้อมูลจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งระเบียบวิธีคิดและวิธีการปะติดปะต่อข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์จนนำมาซึ่งข้อสรุปหรือความรู้นี้ สมัยใหม่เขาเรียกว่า “วิทยาศาสตร์”

ดังนั้น นอกจากเขาจะได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์แล้ว เขาน่าจะเป็น “นักวิทยาศาสตร์” ด้วย ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้จู่ๆสรุปความเห็นความเชื่อของเขาออกมาเลย แต่เขายังเล่าถึงที่มาของข้อสรุปว่าเขาได้มาด้วยวิธีการอะไร ในแง่นี้ เขาไม่ได้แค่เพียงเป็น “นักวิทยาศาสตร์” แต่เขาเป็น “นักปรัชญาวิทยาศาสตร์” ด้วย

และเมื่อเราได้รู้วิธีคิด-วิธีได้ความรู้และข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดของเขาแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราอยากรู้เรื่องการเมืองและสงครามที่เขาบันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง The Peloponnesian War มากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก

                                                                             ธูซิดิดีส

********************************************************************

Let's block ads! (Why?)



"เป็นต้นฉบับ" - Google News
May 21, 2020 at 02:10PM
https://ift.tt/2zYb3oY

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (4 ) - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์
"เป็นต้นฉบับ" - Google News
https://ift.tt/2xbvptW
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/3dnz7A2

Bagikan Berita Ini

0 Response to "บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (4 ) - โพสต์ทูเดย์ คอลัมนิสต์การเมือง - โพสต์ทูเดย์"

Post a Comment

Powered by Blogger.